ทส. เฝ้าระวัง ‘แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ’ ยกระดับคุมเข้มป้องกันจุดความร้อน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวัง 3 จังหวัดภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน กำลังได้รับผลกระทบหมอกควันไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแวด ยกระดับมาตรการเข้มงวดสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดจุดความร้อนเพิ่ม
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เรียกประชุมติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง และมอบนโยบายยกระดับมาตรการที่เข้มงวด โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีถึงปานกลาง (สีเขียว/สีเหลือง)
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แต่แนวโน้มค่ารายชั่วโมงเริ่มลดลงในหลายจังหวัด และจังหวัดที่ยังคงต้องเฝ้าระวังคือ จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงช่วงระหว่างวันที่ 14 - 17 มีนาคม 2567 เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ ลมที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนจะเปลี่ยนเป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอีกครั้ง หากสถานการณ์จุดความร้อนในประเทศและนอกประเทศยังคงมีจำนวนที่มากในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้นได้อีก
ด้านนายจุตพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ระบุว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ขณะนี้ได้เข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือกระทรวงฯ ได้ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 มาอย่างต่อเนื่อง และได้ยกมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านกลไกคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่พบสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อขอให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงินประมาณ 272 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ ฝุ่นละอองในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายเพื่อยกระดับการรับมือสถานการณ์ตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และ มาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ภายใต้การปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยพื้นที่เป้าหมาย คือ 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากทั้งในพื้นที่ป่า ในพื้นที่สูง ในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 6 ข้อ ได้แก่ การปรับรูปแบบ การจัดกำลัง ดับไฟป่า เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่ พร้อมลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้นเมื่อพบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันที
ภาพจาก: AFP