รีเซต

บทสัมภาษณ์ : รองนายกฯ ไทยชี้ BRI หนุนการเชื่อมต่อ-ความเจริญระดับโลก

บทสัมภาษณ์ : รองนายกฯ ไทยชี้ BRI หนุนการเชื่อมต่อ-ความเจริญระดับโลก
Xinhua
19 ตุลาคม 2566 ( 09:39 )
137

(แฟ้มภาพซินหัว : รถไฟฟ้ารางเดี่ยว สายสีเหลือง ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 มิ.ย. 2023)

กรุงเทพฯ, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปทางนอกเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่างทางรถไฟ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาวและไทย

"เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน" ปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่าจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ปานปรีย์กล่าวว่าประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีนก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด "ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก"

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

ปานปรีย์กล่าวว่าจีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค ปานปรีย์กล่าวว่าความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

"ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน" ปานปรีย์กล่าว

(แฟ้มภาพซินหัว : คนดูโมเดลรถไฟของไชน่า เรลเวย์ โรลลิง สต็อก คอร์เปอเรชัน หรือซีอาร์อาร์ซี ระหว่างงานมหกรรมรถไฟแห่งเอเชียแปซิฟิก ปี 2023 ในกรุงเทพฯ วันที่ 31 พ.ค. 2023)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง