นักวิทย์จีนพบ 'แมลงเลียนแบบมด' เก่าแก่สุด ซุกอำพัน 100 ล้านปี
คณะนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง (NIGPAS) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ค้นพบตัวอ่อนของแมลงเอเลียนอปเทอริด (Alienopterid) หลายตัวที่มีลักษณะคล้ายมดในฟอสซิลมากกว่า 100 ชิ้นจากจีน สหรัฐฯ เยอรมนี สโลวาเกีย และประเทศอื่นๆ
หวังโป๋ ผู้นำการวิจัย เผยว่าตัวอ่อนในฟอสซิลมีความยาว 3-5 มิลลิเมตร และมีท้องบางคล้ายกับท้องของมด ส่วนหนวดและขาของตัวอ่อนเหล่านี้ยังมีลักษณะใกล้เคียงกับมดยุคดึกดำบรรพ์ โดยสิ่งที่น่าสนใจคือแมลงชนิดนี้สามารถเปลี่ยนเป้าหมายการเลียนแบบขณะเติบโตได้
"เมื่อเอเลียนอปเทอริดระยะโตเต็มวัยมีปีก พวกมันไม่สามารถสวมบทบาทเป็นมดไร้ปีกอีกต่อไป พวกมันจึงเริ่ม 'เลียนแบบ' ตัวต่อแทน" หวัง ซึ่งเป็นผู้นำคณะนักวิจัยที่ยืนยันการค้นพบดังกล่าวระบุ
คณะนักวิจัยเผยว่าตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเอเลียนอปเทอริดจากยุคครีเทชียสตอนกลางนี้เลียนแบบแมลงประเภทไฮเมนนอพเทอรา (Hymenoptera) ที่มีลักษณะแตกต่างโดยสิ้นเชิงได้ นับเป็นการค้นพบหลักฐานของการเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเลียนแบบสัตว์ชนิดอื่นในฟอสซิลเป็นครั้งแรก
หวังเสริมว่าการเลียนแบบมด (Myrmecomorphy) เป็นปรากฏการณ์ที่สัตว์บางชนิดเลียนแบบรูปร่างและพฤติกรรมของมด และเป็นพฤติกรรมการเปลี่ยนรูปร่างแบบพิเศษที่พบได้ในธรรมชาติเป็นวงกว้าง
"อย่างไรก็ดี ไม่เคยมีการค้นพบสัตว์ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างเป็นสัตว์หลายชนิดขณะเติบโตในฟอสซิลมาก่อน" หวังกล่าว "การเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเลียนแบบสัตว์ชนิดอื่นที่แตกต่างกันสามารถช่วยให้สัตว์ชนิดนี้หลอกผู้ล่าและป้องกันตัวเองได้"
อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเอิร์ธ-ไซแอนซ์ รีวิวส์ (Earth-Science Reviews) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2021