รีเซต

นิวเดลีทุบสถิติ อากาศเดือนพ.ย.มีมลพิษ 11 วัน เลวร้ายสุดในรอบ 6 ปี

นิวเดลีทุบสถิติ อากาศเดือนพ.ย.มีมลพิษ 11 วัน เลวร้ายสุดในรอบ 6 ปี
ข่าวสด
1 ธันวาคม 2564 ( 22:00 )
54
นิวเดลีทุบสถิติ อากาศเดือนพ.ย.มีมลพิษ 11 วัน เลวร้ายสุดในรอบ 6 ปี

นิวเดลีทุบสถิติ - วันที่ 1 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า กรุงนิวเดลีของอินเดีย และพื้นที่โดยรอบ มีคุณภาพในเดือนพ.ย.ปีนี้ย่ำแย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอยอย่างน้อย 6 ปี โดยเมืองหลวงแห่งนี้มีมลพิษรุนแรงเป็นจำนวน 11 วัน ทุบสถิติจาก 10 วัน ในเดือนพ.ย. 2559

 

 

ข้อมูลอย่างเป็นทางการเผยว่า ผู้อยู่อาศัยในกรุงนิวเดลีแทบไม่เคยเจอวันที่มีคุณภาพอากาศดีๆ ตลอดเดือนนี้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญโทษว่า การเผาตอซังพืชหลังเก็บเกี่ยวในรัฐติดกัน และเทศกาลดีวาลี เทศกาลแห่งแสงไฟของศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ ศาสนาเชน เป็นเหตุให้ระดับมลพิษในเดือนพ.ย.สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

ตัวเลข 11 วันแย่ที่สุดเท่าที่กรุงนิวเดลีเคยมีมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษกลางของอินเดียเริ่มบันทึกข้อมูลคุณภาพอากาศ

 

 

ดร.กูฟรัน เบอิก ผู้ก่อตั้งสำนักพยากรณ์คุณภาพอากาศ กล่าวว่า ฤดูมรสุมที่กินเวลานานทำให้การเผาตอซังพืชหลังเก็บเกี่ยวและเทศกาลดีวาลีเลื่อนเข้ามาเดือนพ.ย. จึงเป็นเหตุผลที่เดือนดังกล่าวมีคุณภาพอากาศแย่ลงในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ข้อมูลดาวเทียมจากนาซาเผยว่า มีไฟจำนวน 90.984 จุดจากการเผาตอซังพืชหลังเก็บเกี่ยวใน 3 รัฐ ได้แก่ รัฐปัญจาบ รัฐหรยาณา และรัฐอุตตรประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. - 28 พ.ย. เป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปี ตามรายงานจากสภาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และน้ำ ของอินเดีย

 

คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองหลวงเดลียังลดลงถึงระดับอันตราย 1 วัน หลังเทศกาลดีวาลี เนื่องจากประชาชนฝ่าฝืนคำสั่งห้ามจุดประทัดเป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่วนการเผาตอซังพืชแม้จะมีการห้าม แต่การบังคับใช้เป็นไปด้วยความยาก

 

นอกจากนี้ ปัญหาข้างต้นดูจะแย่ลงไปอีก เมื่อรัฐบาลกลางตกลงที่ทำให้การเผาตอซังพืชไม่ผิดกฎหมายเพื่อลดการประท้วงของชาวนาที่ชานเมืองหลวง

 

 

ทั้งนี้ ระดับอนุภาคพีเอ็ม 2.5 ที่สามารถอุดตันในปอดของมนุษย์ได้นั้น สูงกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ขณะที่การศึกษาหลายชิ้นเตือนถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของการหายใจเอาอากาศที่เป็นพิษดังกล่าว

 

เมื่อไม่นานนี้ การศึกษาร่วมโดยมูลนิธิดูแลปอด และมูลนิธิวิจัยและศึกษาการดูแลปอด พบว่าการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศระดับสูงอาจทำให้เด็กอ้วนและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้น นับเป็นการศึกษาชิ้นแรกในอินเดียที่ระบุความเชื่อมโยงระหว่างเด็กที่มีน้ำหนัก โรคหอบหืด และมลพิษในอากาศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง