‘เกษตรฯ’เร่งขับเคลื่อน เกษตรกรรมยั่งยืน มุ่งเพิ่ม พื้นที่สีเขียว
กระทรวงเกษตร เร่งขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนทั่วประเทศ มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมเกษตรในเมืองสร้างความมั่นคงอาหาร ดีเดย์ มกราคม 2564
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน บรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาเมืองบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว” ในงาน สัมมนา“กลไกการพัฒนาเมืองและพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจในพื้นที่” ณ สวนเสียงไผ่ ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ
นายอลงกรณ์ กล่าวถึงโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองซึ่งเป็นการขยายผลโครงการ”เมืองสีเขียว”ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตอบสนองการเติบโตที่ไม่หยุดยั้งของกรุงเทพและความเป็นเมืองของจังหวัดต่างๆ
โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “พื้นที่สีเขียว” เพื่อลด ปัญหา GHG - PM 2.5 เพิ่มการเกษตรในเมือง เพิ่มคุณภาพอากาศ อัพเกรดคุณภาพชีวิต และสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
คณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ร่วมกับทุกภาคี ทุกภาคส่วนที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้อง นำพื้นที่รกร้างสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างพื้นที่การเกษตรในเมือง (Urban Farming)
มีกลไกการขับเคลื่อนใน 3 ระดับ ทั้งในส่วนกลาง ในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ในพื้นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น พื้นที่ริมทางรถไฟ พื้นที่ใต้ทางด่วนข้างถนน เกาะกลางถนน พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ว่างเปล่าของรัฐและเอกชน
โดยโครงการฯ มีเป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียว 10 ตารางเมตรต่อคน สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะ 400 เมตร เพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมือง 1.3 แสนไร่ พัฒนาให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยเป็นเมืองสีเขียว ซึ่งเป็นเป้าหมายของมหานครทั่วโลกที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว อาทิเช่น สิงคโปร์ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
โครงการท้องฟ้าไร้ฝุ่นของประเทศจีน เมืองสต็อกโฮม ประเทศสวีเดน เมืองฟูจิซาว่า ประเทศญี่ปุ่น บนฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ครอบคลุมใน 4 มิติ
ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ BCG มิติสิ่งแวดล้อม มิติท่องเที่ยว มิติเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับ AIC และ Innovation catalog ทั้ง 77 จังหวัด เปลี่ยนป่าคอนกรีตเป็นป่าในเมือง ตอบโจทย์กับแผนแม่บทที่ 6 พื้นที่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ (พ.ศ. 2561 – 2580) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี โดยจะคิกออฟโครงการตั้งแต่มกราคมปี2564