คณบดีศิริราช เผย จับคู่วัคซีนซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า งานวิจัยในตปท.รับรอง
วันนี้ (21 ก.ค.64) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า การใช้วัคซีนสลับชนิด โดยเข็มแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันประเภท B-cells ได้ดี แต่อาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน T-cells ได้ไม่ดี จึงได้มีการปรับมาให้เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ที่กระตุ้น T-cells ได้ดี โดยเว้นระยะห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยทั่วไปหลังจากฉีดไป 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูง
ผลการวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความเห็นว่า วัคซีน 2 เข็มนี้ สามารถกระตุ้นภูมิได้สูง และสูงพอที่จะครอบคลุมสายพันธุ์เดลต้าได้ ลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้ ขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกที่สามารถกระตุ้นได้ทั้ง T-cells และ B-cells แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ที่มีการเว้นระยะห่าง 10-12 สัปดาห์
ข้อมูลการวิจัยในต่างประเทศ ระบุว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์เดลต้า แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากการวิจัยจะเห็นว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการเว้นระยะห่าง 12-14 สัปดาห์ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะลดระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 ลงมาได้ เนื่องจากประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันจะลดลง
ปัจจุบันไทยกำลังหาวัคซีนในรุ่นที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่จะมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งวัคซีนที่จะมีการฉีดในปีหน้าจะมี 2 รูปแบบ คือ วัคซีนชนิดใหม่เลย แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกสักระยะส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่ 2 การศึกษาในคน
และอย่างที่ 2 คือ วัคซีนเดิมยี่ห้อที่คุ้นเคยและได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ออกมา ไทยจึงได้มีการเดินหน้าเจรจาในการจัดหาวัคซีนกับบริษัทที่มีการพัฒนาวัคซีน คาดว่าน่าจะมีวัคซีนรุ่นที่ 2 ออกมาประมาณต้นปีหน้า
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำด้วยว่า การจับคู่ระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า มีงานวิจัยในต่างประเทศออกมาว่ารับรองว่าการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน และมีความปลอดภัยสูง
ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรแพทย์ด่านหน้าได้มีการศึกษาว่าควรใช้วัคซีนที่กระตุ้น T-cells เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสลับเข็มมีเหตุผลทางด้านวิชาการและมีการปรับให้เข้ากับทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้.