รีเซต

‘ไทยพาณิชย์’ จับมือ ‘ททท.’ และ ‘สทท.’ ปลุกพลังไทยช่วยไทย เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์รวมดีลท่องเที่ยว

‘ไทยพาณิชย์’ จับมือ ‘ททท.’ และ ‘สทท.’ ปลุกพลังไทยช่วยไทย เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์รวมดีลท่องเที่ยว
มติชน
24 เมษายน 2563 ( 12:52 )
141
1
‘ไทยพาณิชย์’ จับมือ ‘ททท.’ และ ‘สทท.’ ปลุกพลังไทยช่วยไทย เปิดแพลตฟอร์มออนไลน์รวมดีลท่องเที่ยว

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารได้นำจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยี พร้อมทำงานร่วมกับ บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเว็บไซต์ www.SCBShopDeal.com หรือ เอสซีบีชอบดีล เพื่อเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในการรวบรวมดีลข้อเสนอพิเศษจากลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ของธนาคาร จำหน่ายให้กับผู้บริโภค อาทิ ห้องพักโรงแรม คูปองร้านอาหารแพคเกจสปา

 

โดยได้รับความสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดโอกาสให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ สามารถทำข้อเสนอดีลพิเศษนำมาขายบนเว็บไซต์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ธนาคารหวังว่าเอสซีบีชอบดีลจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างยอดขายและเพิ่มรายได้เพื่อประคองธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้

 

เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2563 เป็นต้นไป และคาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมขายดีลส่วนลดบนเว็บไซต์มากกว่า 200 ราย รวมถึงประเมินว่าเอสซีบีชอบดีลจะช่วยสนับสนุนยอดขายได้กว่า 50 ล้านบาทภายในเดือนมิถุนายน 2563

 

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ขยายวงกว้างลุกลามไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ถือเป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ บริษัทฯเห็นความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการจำนวนมากในหลายธุรกิจ และได้สนับสนุนมาตรการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักชำระหนี้ หรือเพิ่มเงินทุนจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังไม่เพียงพอ เพราะปัญหาหลักของเอสเอ็มอีในขณะนี้คือ ยอดขายที่ลดลงอย่างรุนแรงและบางรายถึงขั้นหยุดชะงัก โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรมร้านอาหาร และกลุ่มบริการทางด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ ทำให้ประสบปัญหาขาดรายได้และสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การสร้างรายได้และกระแสเงินสดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเอสเอ็มอีให้ประคับประคองธุรกิจต่อไปได้จึงเริ่มแนวคิดในการสร้างช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเอสเอ็มอีอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น” นางอภิพันธ์กล่าว

 

นางรุจิรัศมิ์ ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงัก คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 จะลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ถึง 10 ล้านคนหรือไม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ขณะที่สถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ ททท. เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการซ่อมสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในประเทศได้ทันทีหลังจากพ้นวิกฤต

 

รวมไปถึงการปรับสมดุลรายได้ท่องเที่ยวระหว่างตลาดในและต่างประเทศ โดยเพิ่มความสำคัญกับไทยเที่ยวไทยให้มากขึ้น เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้คาดการณ์ว่าหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย คงจะยังไม่ฟื้นตัวในทันที เพื่อเป็นการกระตุ้นบรรยากาศเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องการพลังจากคนไทยช่วยสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ และคาดว่าคนไทยเองก็รอเวลาที่จะได้ออกเที่ยวไทยอย่างปลอดภัยและมีความสุขอีกครั้ง

 

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2562 มาจนถึงปีนี้ ล้วนแต่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งสิ้น นับตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหา PM 2.5  ปัญหาภัยแล้ง และที่ร้ายแรงที่สุดคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก สทท. มากกว่า 95% ได้รับผลกระทบ และปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วจำนวนมาก

 

คาดว่าจนถึงสิ้นปี 2563 จะเกิดผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ด้วยการปิดกิจการถาวรอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างถาวร แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐบ้างแล้ว แต่เชื่อว่าคงเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ตัวผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวและหาช่องทางทำให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัว และสามารถไปต่อได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น การเปิดช่องทางเอสซีบีชอบดีล เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นผลทางด้านยอดขายและรายได้อย่างชัดเจน ด้วยศักยภาพของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเข้าถึงและสื่อสารกับผู้บริโภค ตลอดจนการช่วยเหลือโดยไม่เรียกเก็บค่าบริการและค่าคอมมิชชั่นใดๆ จากผู้ประกอบการ ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนได้สูงมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง