ชัยชนะชาวลุ่มน้ำอิง เชียงราย อนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำ ‘บุญเรือง’ คว้ารางวัล ‘อิเควเตอร์’

ที่บริเวณป่าชุมชนบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้จัดงานแสดงความยินดีกับชุมชน “บุญเรือง” และภาคีลุ่มน้ำอิง เนื่องในวาระที่ได้รับรางวัล “อิเควเตอร์” ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Equator prize: UNDP) และเวทีเสวนาการยกระดับการจัดการป่าชุ่มน้ำอิงตอนล่าง และแนวทางการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมี นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำผลิตผลทางการเกษตร และผลผลิตจากป่าชุมชนมาทำอาหาร นอกจากนี้ยังมีการแจกแก้วไม้ไผ่ สำหรับผู้ที่มาร่วมงานเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยมีพระสงฆ์ เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายกฤษเพชรกล่าวว่า “ป่าบุญเรือง” มีประวัติยาวนานและมีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศเป็น 1 เดียวของประเทศไทยที่เป็นป่าชุ่มน้ำในลักษณะทางภาคเหนือ ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนที่อยู่กับธรรมชาติ ตนพบว่าที่นี่เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มากกว่า 100 ปี โดยประชาชนช่วยกันดูแล อยากให้ป่าตรงนี้สามารถขยายไปพื้นที่อื่นและอยู่ต่อไปเป็นร้อยๆ ปี และอยากให้ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โดยมีเยาวชนในพื้นที่เป็นคนถ่ายทอด
ขณะที่บนเวทีได้มีการเสวนาในหัวข้อ “Wetland For Life พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อชีวิต และร่วมมองอนาคตการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนล่าง” โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายทรงพล จันทะเรือง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง, นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย, นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนน้ำของ, นายสุทธิ มลิทอง รองผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, นายยรรยง ศรีเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจืด WWF, นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต, นายวิชา นรังศรี คณะทำงานพื้นที่ชุ่มน้ำ, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ น.ส.เขมอัปสร สิริสุขะ ดารานักแสดง
นายนิวัฒน์กล่าวว่า คนบุญเรืองมีประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าที่หวงแหน ตอนแรกที่รัฐบาลบอกว่าจะเอาป่าแห่งนี้ไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกคนรู้สึกสิ้นหวังเพราะไม่รู้จะหันหน้าไปทางใด บ่อยครั้งที่หน่วยงานรัฐเข้ามามักมองว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ แต่ชาวบ้านที่นี่ไม่ใช่ เพราะชาวบ้านมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนเป็นเครื่องมือในการต่อรอง เดี๋ยวนี้ผืนป่าบุญเรืองถูกยกระดับขึ้น หน่วยงานของรัฐรับรู้แล้ว แต่เส้นทางของลุ่มน้ำอิงยังมีขวากหนามมากที่จะถูกทำลายจากกฎหมายและโครงสร้างต่างๆ วันนี้เฉลิมฉลองรางวัลแล้วเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร
“ชาวบ้านต้องทำให้เห็นว่าป่านี้มีความสำคัญต่อโลกอย่างไร และความเป็นป่าพิเศษแห่งนี้ได้รับความคุ้มครองด้วยข้อกฎหมาย ปัญหาใหญ่คือน้ำอิงเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แต่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างหนักเพราะจีนสร้างเขื่อน 11 แห่งกั้น ทำให้แม่น้ำโขงแห้ง เกิดวิกฤตการทำงานของระบบนิเวศ จีนกักน้ำในฤดูน้ำหลากและปล่อยน้ำในฤดูน้ำแล้ง ทำให้เมื่อฝนตกน้ำโขงไม่สามารถหนุนเข้าสู่แม่น้ำอิง น้ำในป่าบุญเรืองไม่ท่วมเหมือนทุกๆ ปีทำให้เกิดความแห้งแล้ง”
นายสุทธิกล่าวว่า เคยมาสำรวจป่าบุญเรืองแค่เพียง 2 วันเจอนกกว่า 90 ชนิด รวมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกกว่า 200 ชนิด ที่นี่คือความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงด้านอาหาร และป่าแห่งนี้สามารถดูดซับคาร์บอนได้มหาศาล ป่าแห่งนี้พิเศษมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองเป็น “ป่านอกนิยาม” เพราะเป็นต้นไม้ที่โตช้าผ่านการเจริญเติบโตอันยาวนาน ถ้าไม่มีน้ำท่วมตามฤดูกาล จะทำให้ป่าเกิดความเปลี่ยนแปลง ในป่าบุญเรืองมีดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ คือมีตัวยาก 2 ชนิด มีงูจงอาง และเสือปลา ยังเจอร่องรอยของแมวดาว ป่าแห่งนี้มีเอกลักษณ์พิเศษก็สมควรถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
นายระวี ถาวร ผู้แทนศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนอยู่กับป่า กล่าวว่า การที่เสนอพื้นป่าชุมชนบุญเรืองให้ได้รับรางวัลนี้เนื่องจากพื้นที่มีศักยภาพ 2 ประการ คือ ประการคือด้านระบบนิเวศซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นและมีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกประการคือพื้นที่มีการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ป่าดำรงคงอยู่มาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจมาต่อสู้กับรัฐบาล ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจระดับโลก ความสำเร็จที่นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันยังป่าผืนอื่นๆ อีก 24 ป่า อีกทั้งยังเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ผ่าแห่งนี้ถูกทำลายในอนาคต ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ การที่ป่าเป็น 1 ใน 10 ที่ถูกรับเลือกให้ได้รางวัลไม่ไช่เรื่องง่าย ชาวบ้านสามารถนำรางวัลที่ได้ไปอ้างอิงในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อพื้นที่ป่าได้ ขณะเดียวกันจะถูกยกระดับในเรื่องการจัดการ เป็นมหาวิทยาลัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดได้
เมื่อปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งป่าบุญเรืองกลายเป็นพื้นที่หนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาล แต่ชาวชุมชนบุญเรืองได้ยืนหยัดที่จะอนุรักษ์ รักษาป่าชุ่มน้ำให้พ้นจากภัยคุกคามต่างๆ ปกป้องพื้นที่ป่าชุ่มน้ำที่สำคัญและเป็นผืนใหญ่ที่สุดของลุ่มน้ำอิงไว้ได้โดยรัฐบาลยอมถอย ทำให้ผืนป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืช สัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ เป็นแหล่งแก้มลิงป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วม แหล่งอาหารปลอดภัย แหล่งพลังงาน และยังมีบทบาทในการเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน
จากความสำเร็จบนความพยายามของชุมชน ภาคีเครือข่ายสนับสนุนจึงนำเสนอชุมชนเพื่อขอรับการพิจารณารางวัลอิเควเตอร์ประจำปี 2563 ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งจะมอบให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและโครงการของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่มีมุ่งขับเคลื่อนหาทางออกและสร้างนวัตกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานของธรรมชาติ โดยได้ส่งเสนอชุมชนเข้ารับการพิจารณา โดยปีนี้มีชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อถึงเกือบ 600 แห่งจาก 120 ประเทศทั่วโลก โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาทางเทคนิคได้ตัดสินใจเลือกกลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรืองให้เป็น 1 ใน 10 ชุมชน/องค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้
Tag
บทความน่าสนใจอื่นๆ
