รบ.เผยผลวิจัยวัคซีนไทย "ChulaCov19" กระตุ้นภูมิเท่าไฟเซอร์ คาดใช้จริง เม.ย.ปีหน้า
ข่าววันนี้ 20 ส.ค. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล" ว่า วันนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 25,818,666โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 19,586,009 โดส เข็มที่สอง 5,705,200 โดส และเข็มบูสเตอร์ 527,457 โดส ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่าหายป่วยกลับบ้าน เห็นได้ว่าเป็นความพยายามของแพทย์และพยาบาลที่จะดูแลระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทยให้เป็นไปด้วยดี
นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากวัคซีนที่เราได้หามาจากต่างประเทศ ยังมีวัคซีนที่พัฒนาในประเทศไทย ใน 2 ส่วน ส่วนแรกพัฒนาโดยจุฬาฯ คือ ChulaCov19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย โดยมีแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดคนเทคโนโลยีการผลิตแบบ mRNA ดูการผลิตและวิจัยโดยตรง
"วัคซีนชนิดนี้จะใช้เหมือนกับวัคซีนชนิด mRNA และคาดว่าจะเตรียมใช้จริงช่วงเดือน เม.ย. ปี 2565 โดยวัคซีนของไทยสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 3 เดือนและเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ และยังสามารถผลิตได้เร็ว สามารถสังเคราะห์ในหลอดทดลองได้ภายใน 4 สัปดาห์โดยไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ รวมถึงสามารถปรับแต่งพันธุกรรมตามเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ เมื่อสำเร็จจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด"
นายอนุชา กล่าวอีกว่า จากผลการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครสามารถกระตุ้นภูมิชนิดแอนติบอดีได้เทียบเท่ากับวัคซีน mRNA สามารถยับยั้งการจับโปรตีนกลุ่มน้ำได้ถึง 94 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับวัคซีนไฟเซอร์ และไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง มีเพียงอ่อนเพลียไข้ต่ำหนาวสั่นบ้าง สำหรับผู้ที่ได้รับเข็ม 2 อาการดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนที่สองคือวัคซีนใบยา ของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งพัฒนาโดยเซลล์พืช เรียกว่าใบยาฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีผลิตโมเลกุลโปรตีนได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ต้นทุนต่ำกว่าชนิดอื่น และเป็นการวิจัยผลสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าภายในปลายเดือน ส.ค. หรือต้น ก.ย. จะเริ่มคัดเลือกอาสาสมัครเพื่อมาทดสอบในระยะที่ 1 หากทดสอบในคนผ่านทุกระยะและปลอดภัย คาดว่าจะเริ่มผลิตและใช้วัคซีนชนิดนี้ได้กลางปี 2565 หรือไตรมาสที่ 3 โดยจะผลิตได้ประมาณ 5 ล้านโดส หรือ 60 ล้านโดสต่อปี