ปีนี้ร้อนหนัก! สธ. เตือน"ฮีทสโตรก"อันตรายถึงชีวิต เช็กอาการ-วิธีปฐมพยาบาล
ปลัด สธ. เผย ปีนี้ไทยร้อนหนักกว่าปีก่อน อุณหภูมิสูงสุดถึง 44.5 องศา ห่วงประชาชนเกิด "ฮีทสโตรก" อันตรายถึงชีวิต แนะวิธีป้องกันสังเกตอาการ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจถึง 44.5 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยดูได้จากค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนความรู้สึกร้อนของร่างกาย จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์
เนื่องจากเมื่อความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เหงื่อระเหยยาก และส่งผลให้รู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ หากค่าดัชนีความร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จะมีความเสี่ยงเกิดโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
“กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคฮีทสโตรก ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน จึงควรอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแต่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน จะมีโอกาสเกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน ดังนั้น หากต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเลี่ยงการสวมชุดที่มีสีเข้ม เนื่องจากจะดูดซับความร้อนได้ดี ดื่มน้ำมากๆ และสลับเข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ เช่น ทุก 30 นาที หรือทุกชั่วโมง” นพ.โอภาสกล่าว
อาการสำคัญของโรคฮีทสโตรก
คือ วิงเวียน อ่อนเพลีย ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น เหงื่อไม่ค่อยออก ผิวร้อน แดง แห้ง หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และดื่มน้ำมากๆ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง คลายเสื้อผ้าให้หลวม ถอดเสื้อผ้าออกเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ หากปฐมพยาบาลแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669
วิธีป้องกันฮีทสโตรก
ทั้งนี้ สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคฮีทสโตรคได้ด้วยการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดนานเกินไป หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากต้องการออกกำลังกาย ควรปฏิบัติดังนี้
1.ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่
2.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
3.ออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคาร หรือบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท
4.สวมชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี
5.ออกกำลังกายเป็นกลุ่ม เพื่อหากมีอาการผิดปกติได้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด
ที่มา รัฐบาล
ภาพจาก AFP