“คมนาคม” ฟื้นระบบทางด่วนขั้นที่ 3 เชื่อมโครงข่ายทางด่วนตะวันออก–ตะวันตก
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 หรือเอ็น 2 (N2) พร้อมกับการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ที่ประชุมได้สรุปการรับรู้แนวทางในการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 หรือเอ็น 2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งพบว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กลับไปศึกษาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 หรือเอ็น 1 (N1) ที่มีแนวเส้นทางผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พื้นที่ชุมชนคลองบางบัว ซึ่งเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อจากทางด่วนศรีรัช โดยที่ประชุมเล็งเห็นว่าหากมีการพัฒนาทางด่วนเอ็น 1 เกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนโครงข่ายการเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น
“กระทรวงฯเชื่อว่า การพัฒนาทางด่วนเอ็น 1 และเอ็น 2 พร้อมกัน จะทำให้โครงข่ายส่วนนี้เชื่อมต่อกันได้ดีมากขึ้น โดยการเดินทางของประชาชน จากฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสั่งการให้ กทพ.ศึกษารายละเอียดส่วนนี้ ที่จะปรับเป็นอุโมงค์ลอดออกมา ขณะที่งบประมาณการลงทุน เบื้องต้น กทพ.จะจัดใช้เงินจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (ทีเอฟเอฟ) โดยการศึกษาทางด่วนเอ็น 1 จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในครั้งถัดไป” นายชัยวัฒน์กล่าว
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า เส้นทางตามแนวของทางด่วนเอ็น 1 จะมาจากทางด่วนศรีรัช ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคลองบางบัว ซึ่งขณะนี้ก็มีข้อเสนอจากทางที่ปรึกษาว่า หากจะพัฒนาเป็นอุโมงค์ลอดผ่านคลองบางบัวก็จะเป็นวิธีที่ดี กระทรวงฯ จึงสั่งการให้กทพ. ไปศึกษาเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้าง หลักการทางวิศวกร ระยะเวลาดำเนินการ และความคุ้มค่ามานำเสนอโดยเร็ว เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างต่อเนื่อง