รีเซต

ยาหยอดตาจากสายสะดือทารก วิธีใหม่ป้องกันไม่ให้ตาบอด ?

ยาหยอดตาจากสายสะดือทารก วิธีใหม่ป้องกันไม่ให้ตาบอด ?
TNN ช่อง16
4 กันยายน 2566 ( 13:04 )
76
ยาหยอดตาจากสายสะดือทารก วิธีใหม่ป้องกันไม่ให้ตาบอด ?

กระจกตาอักเสบติดเชื้อ เกิดจากการที่มีแผลบริเวณกระจกตา (Corneal ulcer) ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นแผลเปื่อยและตาบอดได้ในไม่กี่วัน และในบางกรณีคนไข้อาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหยอดตาแบบปฏิชีวนะ แต่ล่าสุด สำนักข่าวเดลี่เมล์ (Daily Mail) ของอังกฤษ ได้รายงานข่าวว่านักวิจัยจากฝรั่งเศสออกมาบอกว่าสามารถรักษาอาการนี้ได้ ด้วยยาหยอดตาที่ทำมาจากชิ้นส่วนของสายสะดือทารก


ยาหยอดตาจากส่วนของสะดือทารก

ยาหยอดตาดังกล่าวทำมาจากส่วนที่ชื่อว่า วอร์ตัน เยลลี่ (Wharton’s Jelly) หรือส่วนที่เป็นวุ้นซึ่งพบได้ในสายสะดือของทารกแรกเกิด ซึ่งค้นพบในปี 1656 โดยโธมัส วอร์ตัน (Thomas Wharton) แพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีงานวิจัยที่พบว่าเยลลี่ส่วนนี้เป็นส่วนที่มีสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ร่างกายแบบใดก็ได้อยู่สูง


ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจาก เทเบเอฟ เจนี ทิซซูแลร์  (TBF Génie Tissulaire) สถาบันด้านเนื้อเยื่อและอวัยวะชื่อดังของฝรั่งเศส จึงได้นำวอร์ตัน เยลลี่ ไปฆ่าเชื้อ (Sterlized) และนำไปทำเป็นยาหยอดตาด้วยวิธีการสกัดแห้งแบบแช่แข็ง (Freeze-dried) (การใช้เนื้อเยื่อจากทารกไม่ได้มีผลกับระบบภูมิคุ้มกันและไม่ได้ต้องขึ้นกับรหัสพันธุกรรมหรือ DNA ของแต่ละคน) จากนั้นนำยาหยอดตาแบบใหม่นี้ไปทดสอบในผู้ป่วยด้วยอาการกระจกตาอักเสบจำนวน 15 คน จาก 6 โรงพยาบาล ในฝรั่งเศส วันละ 5 ครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 40 วัน 


ผลลัพธ์ของยาหยอดตาจากส่วนของสะดือทารก

นักวิจัยพบว่า การใช้ยาหยอดตาจากเยลลี่ที่พบในสายสะดือทารกไม่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อแทรกซ้อน และไม่ทำให้การมองเห็นย่ำแย่ลงในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองว่าตัวยาหยอดตาจะสามารถฟื้นฟูแผลและคืนสภาพดวงตาได้หรือไม่นั้นจะสรุปผลได้ในช่วงสิ้นปีนี้ 


และแม้ว่าหลายฝ่ายจะเชื่อว่าเยลลี่ที่มีสเต็มเซลล์จะช่วยฟื้นฟูได้ แต่เมลานี ฮิงโกรานี (Melanie Hingorani) จักษุแพทย์ (Consultant ophthalmologist) จากโรงพยาบาลจักษุมัวร์ฟิลด์ส (Moorfields Eye Hospital) ในลอนดอน นั้นแสดงความเห็นแย้งในการให้ข้อมูลกับเดลี่เมล์ว่า การรักษาแบบดั้งเดิมนั้นจะใช้โปรตีนที่ได้จากการปั่นเลือดของผู้ป่วยเองในรักษา ดังนั้น ต่อให้เปลี่ยนเป็นเยลลี่จากสายสะดือทารกก็น่าจะให้ผลไม่ต่างกัน และกลุ่มตัวอย่างเพียง 15 คน ก็ไม่เพียงพอจะสรุปผลการทดลองที่ถูกต้องได้อีกด้วย


ที่มาข้อมูล Daily Mail, Ophthalmology Times

ที่มารูปภาพ Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง