เมื่อทุ่นสึนามิไม่ทำงาน จะแจ้งเตือนอย่างไร พื้นที่ไหนเสี่ยงเกิดคลื่นยักษ์มากสุด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไขข้อสงสัยระบบเฝ้าระวังการเกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" กรณีทุ่นสึนามิของประเทศไทย หลุดจากตำแหน่งหรือไม่ส่งสัญญาณนั้น จะแจ้งเตือนอย่างไร และพื้นที่ไหนในประเทศไทยเสี่ยงเกิดสึนามิมากที่สุด...
สึนามิเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สึนามิเป็นคลื่นยักษ์ในทะเลมีสาเหตุจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนในลักษณะแนวดิ่งการระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใต้ทะเลและการเกิดดินถล่มในทะเลโดยการเกิดสึนามิของประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวในทะเลตามรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดีย
พื้นที่เสี่ยงเกิดสึนามิในประเทศไทยมีที่ใดบ้าง?
พื้นที่เสี่ยงเกิดสึนามิในประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันรวม 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล ในพื้นที่ 27 อำเภอ 102 ตำบลรวมทั้งสิ้น 509 หมู่บ้าน/ชุมชน
ระบบเฝ้าระวังสึนามิของประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของไทยจะเป็นการติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของประเทศต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังที่ถูกส่งไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) เพื่อทำการประมวลผลด้วยแบบจำลองและวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อคาดการณ์และชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะได้รับผลกระทบ ความเร็วของคลื่นและระยะเวลาที่คาดว่าคลื่นจะกระทบฝั่งเมื่อ NOAA แจ้งยืนยันข้อมูลมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว จึงจะนำไปสู่การแจ้งเตือนภัยต่อไป
ในการร่วมติดตามเฝ้าระวังสึนามิประเทศไทยเริ่มมีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2549 ในมหาสมุทรอินเดีย โดยติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 965 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2559 ได้มีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิตัวที่ 2 ในทะเลอันดามันห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร
ปัจจุบันประเทศไทย จึงมีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิจำนวน 2 ตัว เพื่อใช้ในการรับข้อมูลติดตามเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ นอกจากนี้ ยังมีการติดตามเฝ้าระวังร่วมกับการติดตามข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลนานาชาติ (IOC) จากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศไทยที่เกาะเมียง และเกาะราชาน้อยร่วมด้วย
ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิทำงานอย่างไร?
ระบบตรวจวัดเครื่องสึนามิที่ประเทศไทยใช้เป็นระบบที่ออกแบบโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการเกิดคลื่นสึนามิจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
ทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) ติดตั้งแบบลอยอยู่บนผิวน้ำกลางมหาสมุทร และชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder : BPR) ซึ่งเป็นแท่งติดตั้งที่บริเวณท้องมหาสมุทรลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 2,500-3,600 เมตร
เครื่องมือทั้ง 2 ส่วนจะทำงานรับส่งข้อมูลร่วมกันตลอดเวลา โดยชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเลจะทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของความดันน้ำและนำข้อมูลที่ได้ส่งผ่านไปยังทุ่นลอยบนผิวน้ำ
และส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำผ่านสัญญาณดาวเทียมไปยัง NOAA และหาก NOAA ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นคลื่นสึนามิก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทันที
เรามีการแจ้งเตือนสึนามิไปยังพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างไร?
เมื่อได้รับข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิที่แน่ชัดแล้วจะทำการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 226 แห่ง รวมถึงส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังหน่วยงานราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เพื่อให้ทำการแจ้งเตือนและส่งข่าวสารไปยังประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือ และอพยพประชาชนตามแผนเผชิญเหตุ
ทุ่นสึนามิไม่ทำงาน แล้วจะแจ้งเตือนได้อย่างไร?
กรณีทุ่นสึนามิของประเทศไทยหลุดจากตำแหน่งหรือไม่ส่งสัญญาณนั้น จะมีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทย
แต่ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยยังคงดำเนินการได้ เนื่องจากการที่ติดตามเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยการเกิดสึนามิของประเทศไทยนั้น เป็นการใช้และประมวลของมูลจากหลายฐาน โดยข้อมูลของจากทุ่นสึนามิของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ
ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission: IOC เป็นต้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดียและประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียงจังหวัดพังงาของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือและสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้าเพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัย ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิที่แสดงข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่ ช่วงเวลาในการเกิดคลื่นสึนามิ และความเร็วของคลื่นที่จะเข้าสู่ฝั่ง
ทำไมประเทศไทยต้องมีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ?
การที่ประเทศต่างๆ มีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิเป็นการร่วมกัน ทำให้ประสิทธิภาพในด้านข้อมูลการติดตามและเฝ้าระวังสึนามิมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเครือข่ายของระบบตรวจวัดและแจ้งเตือนสึนามิ NOAA
นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการใช้ข้อมูลสึนามิร่วมกันกับ NOAA หน่วยงานระหว่างประเทศและประเทศภาคีที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ทั้งบริเวณมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ยังจะทำให้สามารถรับข้อมูลการเกิดคลื่นสึนามิได้พร้อมๆ กับที่ข้อมูล ถูกส่งไปยัง NOAA ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยแบบจำลองของประเทศไทยได้ในเวลาเดียวกัน
ทุ่นสึนามิหลุดทำอย่างไร?
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีแผนดำเนินการบำรุงรักษาทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ปี ตามมาตรฐาน การดูแลบำรุงรักษาขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA)
โดยจะจัดเตรียมทุ่นสำรองไว้ 1 ชุด สำหรับการวางทดแทนทุ่นเดิมหรือกรณีฉุกเฉินที่ทุ่นในทะเลได้รับความเสียหาย ซึ่งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของไทยทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ ทุ่นตรวจวัดสึนามิในทะเลอันดามันสถานี 23461 และทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
จะครบรอบการบำรุงรักษาระบบในปี พ.ศ 2565 จึงได้วางแผนดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 เนื่องจากการนำทุ่นตรวจวัดสึนามิ ไปติดตั้งทดแทนทุ่นชุดเดิมนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพอากาศ และสภาพพื้นน้ำทะเลที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย.
ข้อมูลและภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย