'จุรินทร์' หารือภาครัฐ-เอกชน แก้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือ บรรเทาผลกระทบภาคการส่งออก
‘จุรินทร์’ หารือภาครัฐ-เอกชน แก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับภาคการส่งออกของประเทศ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ธันวาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ
นายจุรินทร์เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องจากการประชุม กรอ. พาณิชย์ในปัญหานี้จึงมาตรวจดูร่วมทุกฝ่าย โดยมีรายละเอียดในการดูจากท่าเรือกรุงเทพวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งและต้องหาข้อสรุปและหาทางบริหารจัดการและดูเรื่องกฎระเบียบที่สามารถจัดการได้โดยเร็ว ทั้งนี้ สถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้ามาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำ ทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลง และมีการควบรวมกิจการ ส่วนการขาดแคลนตู้สินค้าเกิดจากสายเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว และมีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า ติดค้างอยู่ที่สหรัฯ เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐและยุโรป
นายจุรินทร์กล่าวว่า ดังนั้น จึงส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง (Freight) ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) มีการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น และการจองพื้นที่จัดสรรระวาง (ตู้สินค้า) มีความไม่แน่นอน อาจดำเนินการจองแล้วถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Space Allocation)
“สำหรับผลการหารือในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยในส่วนของค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เข้าไปกำกับดูแล และขอให้คงอัตราค่าบริการภายในประเทศตามอัตราปี 2561 อัตราค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ขอให้เป็นไปตามค่าธรรมเนียมตลาดโลก แต่ต้องเป็นธรรม และห้ามมีการยกเลิกการจองตู้สินค้า ส่วนเรื่องการผูกขาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจำกัดปริมาณตู้สินค้าที่มาจากสายการเดินเรือ ได้มอบให้ สขค. เข้าไปดูแล” นายจุรินทร์กล่าว