รีเซต

ผู้บริโภค ค้านสูตร 14+2X ค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว

ผู้บริโภค ค้านสูตร 14+2X ค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว
TNN ช่อง16
10 สิงหาคม 2565 ( 14:54 )
95




จากกรณี กทม. ออกมาเปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วง แบริ่ง – สมุทรปราการ และ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จะเริ่มเก็บในเดือนกันยายนนี้ โดยจะใช้แผนจัดเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวด้วยสูตรการคำนวณ 14+2X เริ่มต้นที่ 14 – 44 บาท เมื่อรวมเส้นทางหลักที่เป็นสัมปทานของบีทีเอสแล้ว กทม. จะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาทเท่ากับราคาปัจจุบันนั้น


คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยืนยันไม่เห็นด้วย ที่ กทม. จะใช้สูตร 14+2X เริ่มต้น 14 บาท จากนั้นเก็บเพิ่มสถานีละ 2 บาท มาคำนวณค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพราะซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพผู้บริโภคและยังไม่ได้แก้ปัญหาค่าโดยสารแพง


นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง – สมุทรปราการ และ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ยังเป็นเส้นทางที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางส่วนต่อขยายเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ดังนั้น การปรับราคาขึ้นโดยใช้สูตรคำนวณดังกล่าว จึงถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะจะทำให้ส่วนต่อขยายสายสีเขียวกลายเป็นเส้นทางใหม่ที่คิดตามระยะทาง แม้เมื่อรวมเส้นทางหลักที่เป็นสัมปทานของบีทีเอสแล้ว กทม.จะกำกับเพดานสูงสุดไว้ไม่เกิน 59 บาทเหมือนเช่นในปัจจุบันก็ตาม


“ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคและประชาชนทุกคนคาดหวังกับ ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกลง โดยราคาสูงสุดควรจะใกล้เคียงกับค่าโดยสารตลอดสายของรถไฟฟ้าสีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อส่วนต่อขยายของสายสีเขียวเป็นการลงทุนโดยรัฐทั้งหมด เพื่อเป้าหมายให้ผู้บริโภคทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ เนื่องจาก ผู้ว่าฯ กทม. เคยให้คำมั่นกับประชาชนว่า จะไม่ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว และเห็นว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารสายสีเขียวในราคา 25 – 30 บาท สามารถทำได้” ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่ง ระบุ


ดังนั้น การที่ กทม. ประกาศกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเริ่มต้นที่ 14 – 44 บาท เมื่อรวมเส้นทางหลักที่เป็นสัมปทานของบีทีเอสแล้วจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาทเท่ากับราคาปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง โดยเฉพาะสถานการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องเสียค่าโดยสารในการเดินทางไปกลับมากถึง 118 บาท หรือเกือบร้อยละ 36 ของรายได้ขั้นต่ำ ที่ยังไม่รวมค่าบริการขนส่งอื่นที่จำเป็นต่อวันอีก การเพิ่มราคาค่าโดยสารในราคาดังกล่าวจึงถือเป็นภาระกับผู้บริโภค



จากการสำรวจความเห็นของพนักงานออฟฟิศย่านพระราม 9 รายหนึ่ง ซึ่งต้องเดินทางจากบ้านย่านลำลูกกาคลอง 5 และใช้รถไฟฟ้าที่สถานีคูคต กล่าวว่า หาก กทม. เก็บค่าโดยสารโดยใช้สูตรการคำนวณดังกล่าว จะกระทบค่าใช้จ่ายในการเดินทางแน่นอน จากเดิมที่ต้องเดินทางออกจากบ้าน ด้วยรถแท็กซี่ 120 บาท เพื่อมาขึ้นรถไฟฟ้าคูคต – หมอชิต ฟรี และต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาทำงานที่พระราม 9 รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 148 บาท


ต่อเที่ยวไปกลับ 300 บาท แต่ถ้าเก็บเพิ่มจะมีค่าใช้จ่ายเที่ยวละ 194 บาท เมื่อรวมค่าเดินทาง มีค่าใช้จ่ายมากถึง 400 บาท



“ต้องการให้ กทม. ค่าโดยสารในราคา 14 บาทตลอดสายจากคูคตไปจนถึงหมอชิต เนื่องจากเป็นราคาที่ยังพอรับได้ แต่หากใช้สูตรคำนวณ 14+2X เก็บเพิ่ม 2 บาททุกสถานี เป็นราคาที่รับไม่ได้เลย เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่าเดินทางจะสูงมาก เมื่อรวมแล้วค่าเดินทางเที่ยวเดียวจะต้องจ่ายเกือบ 200 บาท” พนักงานออฟฟิศย่านพระราม 9 กล่าว


ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รวบรวมความเห็นของประชาชน 3,204 คน รวม 9,574 ความคิดเห็น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 21 สถานี ตั้งแต่สถานีคูคต – สถานีเคหะ ที่มีผู้เห็นด้วยมากกว่าร้อยละ 96 ที่ชี้ว่ารถไฟฟ้าราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ร้อยละ 97 เห็นด้วยว่ารถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคนและรัฐควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม



อย่างไรก็ตาม จากการประชุมร่วมกันระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมานั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยเสนอให้ กทม. เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 10 บาท แทน 15 บาท และในครั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องการเรียกร้องให้ ผู้ว่าฯ กทม. ยุติแผนเก็บค่าโดยสารสูตร 14+2X สูงสุดไม่เกิน 59 บาททันที และเสนอให้ กทม. จัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเหมาจ่ายส่วนต่อขยาย 1 – 2 สายสีเขียว ในราคา 10 – 15 บาท เมื่อรวมกับส่วนสัมปทานหลักตลอดเส้นทางต้องไม่เกิน 59 บาท ซึ่งเป็นไปตามแผนระยะสั้นของผู้ว่าฯ กทม. ก่อนหมดสัมปทานปี 2572 ขณะที่เก็บค่าโดยสารในราคา 25 บาทตลอดสาย หลังจากหมดอายุสัมปทาน ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนทุกคนใช้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกวัน



ภาพ ข้อมูบล /   สภาองค์กรของผู้บริโภค 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง