7 จุดเสี่ยงใน 'วัด-ศาสนสถาน' แหล่งแพร่โควิดที่สายบุญมองข้าม
วันนี้ ( 15 ก.ค. 65 ) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวประชาชนนิยมท่องเที่ยวและไปทำบุญที่วัดและศาสนสถานต่างๆ ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ของวัดและศาสนสถานทุกแห่ง ร่วมกันล้างส้วมสาธารณะให้สะอาดเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการ โดยเน้นการทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยงได้แก่
1.สายฉีดชำระ
2.ที่กดโถส้วม
3.โถปัสสาวะ
4.ลูกบิดหรือกลอนประตู
5.ที่รองนั่งโถส้วม
6. พื้นห้องส้วม
7.ที่เปิดก๊อกเพื่อเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดี และลดความเสี่ยงโรคโควิด-19
ส่วนผู้ใช้บริการต้องช่วยกันรักษาความสะอาด และมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมอย่างถูกต้องโดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างขณะรอใช้ส้วม 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบเช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเองป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามหลัก UP–DMHTAโดยเน้นย้ำการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ เพื่อป้องกันโรค
“สำหรับพนักงานทำความสะอาดขณะปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยางและผ้ายางกันเปื้อน สวมรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้สนับสนุนให้สถานประกอบการ วัด และศาสนสถานทุกแห่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ (HAS) คือ 1) สะอาด (Health) : ห้องส้วมดำเนินการตามหลักสุขาภิบาล สุขภัณฑ์ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น2) เพียงพอ (Accessibility) : มีส้วมเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการและ 3) ปลอดภัย (Safety) : ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้ส้วม เช่น สถานที่ตั้งไม่เปลี่ยว ห้องส้วมแยกเพศชาย-หญิง มีแสงสว่างเพียงพอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย
ภาพจาก : TNN ONLINE