รีเซต

รฟม. ยันปรับทีโออาร์ประมูลสีส้ม ทำถูกต้องตามกฎหมาย คาดได้ตัวผู้ชนะต้นปีหน้า

รฟม. ยันปรับทีโออาร์ประมูลสีส้ม ทำถูกต้องตามกฎหมาย คาดได้ตัวผู้ชนะต้นปีหน้า
ข่าวสด
25 กันยายน 2563 ( 14:59 )
111

รฟม. ยันปรับ TOR ประมูลสายสีส้มถูกต้องตามกฎหมาย แจงใช้คะแนนรวม "เทคนิค-การเงิน" เพื่อประโยชน์รัฐ เดินหน้าประมูลต่อ คาดได้ตัวผู้ชนะ ม.ค.ปีหน้า

 

ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวงชนแห่งประเทศไทย( รฟม. )ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีวงเงินลงทุน 1.4แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 โดยมีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 ก.ย. 2563 และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification หรือTOR) ด้วยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม(RFP Addendum)

 

ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ. ร่วมลงทุน 2562 ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนจากเดิมที่กำหนดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ เกณฑ์ขั้นต่ำด้านเทคนิคและให้ผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก เป็นการประเมินโดยใช้คะแนนรวมด้านเทคนิคและผลประโยชน์ทางการเงินในอัตรา 30:70 โดยผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและมั่นใจได้ว่ารัฐจะได้เอกชนผู้ลงทุนที่มีความสามารถ ดำเนินงานได้อย่างมีคุณภาพและประสบความสำเร็จ โดยได้ขยายกำหนดยื่นข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน เป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 ซึ่งหากรวมกับระยะเวลาตั้งแต่การเปิดขายซองด้วยจะเห็นว่าเอกชนมีเวลามากถึง73 วัน ซึ่งมากเพียงพอในการปรับปรุงเอกสารให้เป็นไปตาม RFP Addendum

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกได้ปรับปรุง TOR โดยใช้เกณฑ์การประเมินคะแนนรวมด้านเทคนิค ราคา เป็นสิ่งที่คณะกรรมการ และ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้ว และมั่นใจว่าเป็นเกณฑ์การประเมินที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ

 

เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสาย ต้องก่อสร้างสถานีและอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่รัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ชุมชนที่ต้องใช้เทคนิคการก่อสร้าง การเดินรถและมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งงานก่อสร้างและระบบรถไฟฟ้า ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพและเทคนิคการดำเนินการของเอกชนมิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น

 

TOR ที่ออกขายไปก่อนใช้การประเมินผู้ชนะโดยดูจากผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุด ซึ่งคณะกรรมการและ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันแล้ว TOR เดิมอาจเกิดกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์เทคนิคขั้นต่ำเสนอผลประโยชน์ทางการเงินที่สูงมากแต่สุดท้ายทำไม่ได้จริง ไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด หรืออาจมีการร้องเรียนในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ผ่านเกณฑ์เทคนิคขั้นต่ำ

 

แต่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงมากกว่าผู้ชนะการคัดเลือก คณะกรรมการจึงนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาปรับปรุง TOR ให้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของความเห็นจากบริษัท อิตาเลียนไทย เป็นเพียงความเห็นประกอบในการพิจารณา ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนทุกรายที่สามารถเสนอต่อคณะกรรมการได้ในระยะเวลาที่กำหนด

 

ทั้งนี้ยืนยันว่า รฟม.ทำตามขั้นตอน ประกาศ กฎหมายลูก กฎหมายหลักถูกต้อง รวมทั้งออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม หรือRFP Addendumครั้งนี้เป็นเรื่องปกติ รฟม. เคยทำมาแล้วตอนเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเมื่อปี 2541 ,โครงการทางด่วน โครงการประมูลอีพาสปอร์ตของกระทรวงการต่างประเทศ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และ เหลือง ล้วนมีการออกเอกสารการคัดเลือกเพิ่มเติม

 

"ผมมองว่าแทนที่ผู้คัดค้านจะเดินสายออกสื่อ ผมว่าเอาเวลาไปปรับปรุงเอกสารดีกว่า จะทำให้ท่านมีโอกาสได้เป็นคู่สัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มได้มากกว่า หากข้อเสนอด้านเทคนิกของท่านมีคุณภาพ จะต้องกังวลอะไร ไม่เห็นต้องกลัว ผมรู้สึกแปลกใจ ถ้าเทคนิคคุณภาพดีจะกลัวอะไร หรือตั้งใจจะให้เป็นอย่างอื่นถึงได้กลัวนักกลัวหนา ที่ต้องเน้นเรื่องเทคนิคเพราะเราต้องการโครงการที่ มีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุเหมือนในข่าวที่ผ่านมา กรณีรคานรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟความเร็วสูงสถานีปากช่องที่พังถล่มลงมาทับคนงานบาดเจ็บ ”

 

นายภคพงศ์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องเทคนิคนั้นซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯจะพิจารณาภายหลังการยื่นซองของเอกชนนั้นยืนยันว่าไม่ได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาแต่เป็นการจัดทำเกณฑ์การให้คะแนนเทคนิคตามหลักวิศวกรรม แต่ไม่สามรถเปิดเผยหลักเกณฑ์การให้คะแนนด้านเทคนิคได้ เพื่อไม่ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดทราบข้อมูลก่อน และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะหากเปิดเผยไปก็เหมือนกรรมการบอกข้อสอบ จึงต้องปล่อยให้เป็นอำนาจในการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก

 

ส่วนที่มีการร้องเรียนว่า กรรมการคัดเลือก และ รฟม. ไม่มีอำนาจแก้ไข ปรับปรุง TOR และเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายและขัดต่อมติ ครม. นายภคพงศ์กล่าวว่า การกำหนดและปรับปรุง TOR เป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ. ร่วมลงทุน 2562 และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการ PPP ที่กำหนดให้ประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโดยพิจารณาเป็นคะแนนในด้านต่าง ๆ ไม่จำกัดเฉพาะผลประโยชน์ทางการเงินท่านั้น และการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2562 ซึ่งดำเนินการตามที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563

 

ผู้ว่า รฟม. ยืนยันว่า การปรับเกณฑ์ประเมิน TOR ครั้งนี้ เป็นการปรับเกณฑ์การประเมินใน TOR เท่านั้น ไม่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของข้อเสนอที่กำหนดใน TOR แต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบไม่เป็นธรรม หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใด เพราะเอกชนทุกรายต้องแข่งขันโดยยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดใน TOR เหมือนเดิมตั้งแต่ก่อนปรับปรุงเกณฑ์ประเมิน

 

นอกจากนี้ การปรับเกณฑ์ประเมินเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการ ยื่นข้อเสนอ (ยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอ) และยังมีการขยายกำหนดเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน เป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563 (จากเดิม 23 ก.ย. 2563) เพื่อให้เอกชนทุกรายมีเวลาเตรียมการมากขึ้น การกำหนดเกณฑ์ประเมินในลักษณะนี้สำหรับโครงการที่มีความซับซ้อนเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ตามกฎหมาย แม้แต่ในการจัดซื้อจัดจ้างปกติของภาครัฐตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 ก็กำหนดให้สามารถดำเนินการได้

 

ส่วนประเด็นที่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ได้มีหนังสือถึง รฟม. คัดค้านการปรับเกณฑ์ดังกล่าว และได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ต่อศาลปกครองกลาง คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. มั่นใจว่าสามารถชี้แจงต่อศาลปกครองกลางได้ทุกประเด็นว่าการปรับเกณฑ์การประเมินในการประมูลครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายใด ๆ

 

ในทางกลับกัน หากต้องระงับการประมูลจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งเป็นสายสำคัญที่สุดที่จะเร่งเปิดให้บริการแก่ประชาชนล่าช้าออกไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กระทบต่อการดำเนินงานของรัฐ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก

 

“ ขณะนี้ทางบีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาลของคุ้มครองฉุกเฉิน เบื้องต้น เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมาศาลได้ไต่สวนเบื้องต้นไปแล้ว โดยรฟม.ได้ชี้แจงต่อศาลยังไม่เห็นเอกสารคำฟ้องหลัก จึงขอให้ศาลพิจารณาเลื่อนการไต่สวนออกไปก่อนซึ่งศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะนัดไต่สวนเมื่อไหร่ โดยระหว่างนี้ รฟม.จะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยจะเปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.นี้ พิจารณาเปิดซองประมูลที่1 คือซองคุณสมบัติในวันที่ 23 พ.ย. นี้ จากนั้นจะเปิดซองที่ 2 ด้าน เทคนิค และซองที่3 ซองราคา คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายใน ม.ค. ปี64”

 

นายภคพงศ์กล่าวตอว่ายืนยันด้วยว่า ข้อกำหนดใน RFP ยังเปิดกว้างให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลสามารถว่าจ้างผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) เข้ามาดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ จึงไม่ได้เอื้อเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยเฉพาะงานก่อสร้างอุโมงค์ที่ต้องใช้เทคนิคเชี่ยวชาญเฉพาะนั้นพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในไทยมีความสามารถที่จะเจาะอุโมงค์มากถึง 4-5 ราย ทั้งงานขุดเจาะรถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา งานขุดเจาะอุโมงค์น้ำเสียของกรุงเทพมหานคร อุโมงค์เขื่อนแม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น แต่ยอมรับว่าเอกชนที่มีประสบการณ์การขุดเจาะอุโมงค์มาแล้วจะได้รับการพิจารณาเรื่องขอคะแนนด้านเทคนิคที่ดี

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีดังกล่าวนั้นมีการกดดันมาจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ ยอมรับว่ามีบ้างถ้าฝ่ายการเมืองหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ได้สอบถามมา ว่าเกิดอะไร ขึ้นซึ่ง รฟม.ได้เรียนชี้แจงพร้อมส่งเอกสารให้พิจารณาเรียบร้อนแล้ว ก็ไม่มีประเด็นอะไร

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมูลค่างานราว 1.4 แสนล้านบาท โดยแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง