รีเซต

'เพื่อไทย' ซัด รบ.เลิกเตะถ่วง-เล่นสองหน้าปล่อย ส.ส.-ส​.ว.ยื่นศาลตีความร่างแก้ไข รธน.

'เพื่อไทย' ซัด รบ.เลิกเตะถ่วง-เล่นสองหน้าปล่อย ส.ส.-ส​.ว.ยื่นศาลตีความร่างแก้ไข รธน.
มติชน
10 พฤศจิกายน 2563 ( 15:27 )
76
'เพื่อไทย' ซัด รบ.เลิกเตะถ่วง-เล่นสองหน้าปล่อย ส.ส.-ส​.ว.ยื่นศาลตีความร่างแก้ไข รธน.

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่รัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภา โดยมีความพยายามทำให้ร่างกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ ส.ว.ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาร่วมขบวนดึงเกม รวมไปถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน และ ส.ว. 47 คนยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 3 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการเตะถ่วงเวลา และไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ดีไซน์มาเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาล การเดินเกมการเมืองของรัฐบาลตั้งแต่การตั้งคณะ กมธ.พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับหลักการสมัยประชุมที่แล้ว ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ส่อแววแท้งก่อนคลอด เกิดจากท่าทีของ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลทั้งสิ้น

 

น.ส.อรุณี กล่าวต่อว่า ถึงแม้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล จะออกมายืนยันว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ร่างแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านสภาในวาระแรกก็ตาม แต่เหมือนรัฐบาลตีสองหน้า การปล่อยให้ ส.ว. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับหลักการ ถึงกระบวนการทางสภาจะเดินคู่ขนาน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ญัตติไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการทั้งหมดที่สภาพิจารณาก็จะสูญเปล่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจแก้ปัญหาประเทศเลย ถ้าจริงใจการแก้รัฐธรรมนูญควรเกิดขึ้น ไม่ควรมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ จึงควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการหยุดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงในทุกกระบวนการ

 

น.ส.อรุณี กล่าวอีกว่า ส่วนการท่าทีและกระบวนการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในการทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ทั้งร่างประชามติที่มีข้อจำกัด นำไปสู่หนังม้วนเดิมที่เคยฉาย ทั้งห้ามการรณรงค์ การวางกฎเกณฑ์พิสดารต่างๆ ทั้งที่หลักการทำประชามติ คือการฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่การแสวงหาช่องทางดึงเวลาให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่เห็นหัวประชาชนด้วยการหาช่องทางลิดรอนสิทธิประชาชนทางอ้อม ในอนาคตการทำประชามติควรจะลงไปสู่ระดับท้องถิ่นด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้เรื่องสาธารณะระดับจังหวัดมีข้อถกเถียงและสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ โดยการทำประชามติต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ กลายเป็นข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บิดเบี้ยว ทั้งที่เนื้อแท้มีการปิดปาก ห้ามการรณรงค์ ไล่จับกุมผู้เห็นต่างแล้วสร้างบรรยากาศความกลัว เพียงเพื่อต้องการครองอำนาจแบบฝืนกระแส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง