รีเซต

หนี้ภาคแรงงานพุ่ง 2.7 แสน/ครัวเรือน สูงสุดรอบ 14 ปี ผวาสิ้นปีแตะ 95% จีดีพี เหตุรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย-ของแพง

หนี้ภาคแรงงานพุ่ง 2.7 แสน/ครัวเรือน สูงสุดรอบ 14 ปี ผวาสิ้นปีแตะ 95% จีดีพี เหตุรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย-ของแพง
ข่าวสด
28 เมษายน 2565 ( 15:28 )
62
หนี้ภาคแรงงานพุ่ง 2.7 แสน/ครัวเรือน สูงสุดรอบ 14 ปี ผวาสิ้นปีแตะ 95% จีดีพี เหตุรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย-ของแพง

หนี้ภาคแรงงานพุ่ง - นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน จำนวน 1,260 ตัวอย่าง พบว่า 52% อยู่ในระบบประกันสังคม และ 48% อยู่นอกระบบ เมื่อเปรียบเทียบรายได้ปี 2565 กับปี 2564 โดย 70.2% ตอบว่าเท่าเดิม, 22.2% ลดลง และ7.5% เพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่าย 55.1% ตอบว่าเท่าเดิม 38.4% สูงขึ้น และ 6.5% ลดลง ส่วนการออม 66.5% ตอบว่าเท่าเดิม 31% ลดลง และ 2.5% เพิ่มขึ้น

 

แรงงานส่วนใหญ่ 99% มีภาระหนี้ และอีก 1% ไม่มีหนี้ ส่วนใหญ่ก่อหนี้ไปใช้ในการใช้จ่ายประจำวัน รองลงมาคือ ใช้หนี้บัตรเครดิต หนี้ที่อยู่อาศัย ยานพาหะนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น โดยหนี้บัตรเครดิต ส่วนใหญ่ 31.7% นำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้า, 17.2% ใช้หนี้เดิม, 15.3% ซื้อสินค้าคงทน, 9.2% ค่าเล่าเรียน เป็นต้น

 

โดยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 217,952 บาท และมีการผ่อนชำระต่อเดือน 7,935 บาท แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 68.9% อัตราดอกเบี้ย 7.6 % และนอกระบบ 31.1% อัตราดอกเบี้ย 12.5% ส่วนการผิดนัดชำนระหนี้ 68.5% ตอบว่ายังไม่ผิดนัดเนื่องจากมีมาตรการผ่อนผัน ส่วน 31.5% ผิดนัด สาเหตุที่ผิดนัด 20.2% เพราะมีหนี้เยอะ รองลงมา 18.7% เพราะค่าครองชีพสูง และ 17.7% มีรายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบรายได้ต่อการผ่อนชำระพบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ราว 33% ต้องผ่อนชำระมากกว่า 5,000 บาท

 

เมื่อถามถึงความกังวลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่กังวลเรื่องของเศรษฐกิจ และราคาสินค้าในอนาคต และยอมรับระดับราคาสินค้าในปัจจุบันกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาท/เดือน ส่งผลให้เงินสะพัดในวันหยุดแรงงาน 1 พ.ค. ปีนี้ จะอยู่ที่ 1,525 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 14.9%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานมองว่าเศรษฐกิจไทยหยุดทรุดตัวแล้วแต่ยังไม่ฟื้น และยังภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขหนี้ 217,952 บาท/ครัวเรือ ถือว่าสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปีที่มีการสำรวจ

เนื่องจากค่าครองชีพสูงทำให้มีเงินเพื่อการใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ ทำให้คนเริ่มประหยัดซึ่งจะกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นช้า และอาจะส่งผลกระทบทำให้หนี้ครัวเรือภายในสิ้นปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้น 90% เป็น 95% ของจีดีพี โดยจีดีพีปีนี้จะโตได้เพียง 3% ต่ำกว่าคาดการณ์ 3.5% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการลอยตัวน้ำมันดีเซล โดยการปรับขึ้นดีเซลทุกๆ 1 บาทจะฉุดจีดีพีให้ลดลง 0.2%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาดีเซลส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง โดยตั้งแต่เดือนพ.ค. จะเห็นสินค้าเริ่มปรับราคาขายส่ง โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและน้ำดื่ม กระทบกำลังซื้อปีนี้จะทรุดตัวตลอดทั้งปี ดังนั้นการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 เพิ่มเติมเงินในระบบอีก 4.5 หมื่นล้านบาท ยังจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหากปรับขึ้นอีก 492 บาททั่วประเทศตามข่าว ถือว่าปรับสูงขึ้นถึง 10-20% จะส่งผลกระทบทันทีต่อสภาพคล่องของนายจ้างเอสเอ็มอี ต้องปลดคนงาน และปรับขึ้นราคาสินค้า ดังนั้นควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่ประชุมไตรภาคีแต่ละจังหวัด ไม่ควรเกินอัตรา 3-5% สอดคล้องกับประมาณการณ์เงินเฟ้อในปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง