รีเซต

บุหรี่สาเหตุใหญ่ ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง

บุหรี่สาเหตุใหญ่ ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง
TNN Health
17 พฤศจิกายน 2564 ( 15:54 )
179
บุหรี่สาเหตุใหญ่ ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง

ในปีนี้  the Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease (GOLD) กำหนดให้วันที่ 17 พ.ย. เป็น  “วันถุงลมโป่งพองโลก” ซึ่ง “โรคถุงลมโป่งพอง” หลายคนมักคิดว่าเกิดจากการสูบบุหรี่แต่เพียงอย่างเดียวและมักจะมองข้ามปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ใกล้ตัวเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วเรามีอีกหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควัน ฝุ่นพิษ ไอเสีย ต่างๆ เป็นสาเหตุร่วมด้วย แต่สาเหตุใหญ่ ยังคงมาจากการสูบบุหรี่ เป็นเรื่องสำคัญ​

 

การสูบบุหรี่ยิ่งสูบนานสูบมากก็จะมีโอกาสที่จะเสี่ยงเป็นโรคถุงลมป่องพองมากยิ่งขึ้น และนอกจากบุหรี่ก็จะมีสารที่เป็นพิษอย่างอื่นที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่น มลภาวะในอากาศตามท้องถนน หรือตามโรงงานต่าง ๆ ทีนี้อาจจะสงสัยว่าบางคนเป็นบางคนไม่เป็นทั้ง ๆ ที่สูบบุหรี่เท่ากันหรือว่าทำงานที่เดียวกัน ก็เนื่องจากว่ามีปัจจัยในตัวคนนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือเรื่องของพันธุกรรม ในบางคนอาจจะมีพันธุกรรมที่ผิดปกติทำให้การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของปอดทำได้น้อยกว่าคนปกติ หรืออาจจะมีความผิดปกติของปอดตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ทำให้ต้นทุนน้อยกว่าคนอื่นก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า


อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนใหญ่จะมี 2 แบบ

แบบที่ 1 อาการเหนื่อย อาการเหนื่อยก็อาจจะเป็นได้ตั้งแต่เวลาออกแรงทำงานหนักถึงจะมีอาการเหนื่อย จนถ้าเป็นมาก ๆ ขณะพักก็จะมีอาการเหนื่อยได้

แบบที่ 2 ก็จะมีเรื่องของไอ ไอจะเป็นลักษณะไอเรื้อรังอาจจะมีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเสมหะก็ปริมาณเพียงเล็กน้อยมักจะเป็นตอนเช้า


ในการวินิจฉัยโรคนี้ เราจะสงสัยคนไข้เป็นถุงลมโป่งพองเมื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยง อย่างเช่นสูบบุหรี่หรือรับฝุ่นควันมาเป็นเวลานาน แล้วก็มีอาการเหนื่อยหรือว่าไอเรื้อรัง ซึ่งเราจะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจสมรรถภาพปอด หรือว่าเป่าปอดและพบว่ามีการตีบแคบอุดกั้นของหลอดลม เนื่องจากว่าการตรวจร่างกายอาจไม่พบความผิดปกติ เอกซเรย์ปอดก็อาจไม่พบความผิดปกติเช่นกัน

 

การรักษาโรคถุงลมโป่งพองก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การใช้ยารักษา กับการไม่ใช้ยา

ส่วนที่ 1 การใช้ยารักษา ยาหลัก คือ ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการคนไข้ ซึ่งเราจะใช้ในรูปของยาพ่นสูดเราจะไม่ใช้ในรูปของยารับประทานเนื่องจากมีผลข้างเคียงมากกว่า 

ส่วนที่ 2 การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แล้วก็การออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ถ้าผู้ป่วยมีออกซิเจนต่ำในร่างกายก็ต้องให้ออกซิเจนระยะยาว


สำหรับวิธีป้องกันโรคนี้ สามารถทำได้ง่าย ๆ เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองเกิดจากสารพิษที่เราสูดเข้าไป เพราะฉะนั้นเราต้องงดและหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ อย่างเช่น เลิกบุหรี่ หรือถ้าเรามีอาชีพที่จะต้องสัมผัสหรือสูดฝุ่นควันก็พยายามหลีกเลี่ยง หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรจะต้องใส่หน้ากาก และหน้ากากนั้นต้องได้มาตรฐานตามวิชาชีพ

 

อ้างอิง : 
https://goldcopd.org/world-copd-day/ 

รศ.ดร.พญ.เบญจมาศ ช่วยชู, ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ติดตาม TNN Health ได้ที่นี่ FB https://www.facebook.com/TNNHealth

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง