รีเซต

ฮู หวั่นโอมิครอนระบาดคู่เดลต้า เกิด สึนามิโควิด ไทยจ่อฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ขวบ ก.พ.65

ฮู หวั่นโอมิครอนระบาดคู่เดลต้า เกิด สึนามิโควิด ไทยจ่อฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ขวบ ก.พ.65
มติชน
31 ธันวาคม 2564 ( 08:25 )
68
ฮู หวั่นโอมิครอนระบาดคู่เดลต้า เกิด สึนามิโควิด ไทยจ่อฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ขวบ ก.พ.65

“ฮู” หวั่นโอมิครอนระบาดคู่เดลต้าเกิดสึนามิโควิด ทำระบบสาธารณสุขล่ม ไทยติดเชื้อพุ่ง 934 ลาม 37 จว. ดีเดย์ฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ขวบ ก.พ.65

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า วันนี้พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ 357 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อครบทั้ง 13 เขตสุขภาพแล้ว กระจายใน 37 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 29 ธันวาคม ที่พบ 33 จังหวัด รวมยอดผู้ป่วยโควิด-19 โอมิครอนสะสม 934 ราย แบ่งตามเขตสุขภาพได้แก่ 1.เขตสุขภาพที่ 1 จ.เชียงราย 1 ราย เชียงใหม่ 7 ราย ลำปาง 1 ราย ลำพูน 4 ราย, เขตสุขภาพที่ 2 จ.เพชรบูรณ์ 1 ราย, เขตสุขภาพที่ 3 จ.พิจิตร 1 ราย, เขตสุขภาพที่ 4 จ.นนทบุรี 22 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย, เขตสุขภาพที่ 5 จ.นครปฐม 1 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย เพชรบุรี 1 ราย และ จ.สุพรรณบุรี 2 ราย, เขตสุขภาพที่ 6 จ.ชลบุรี 18 ราย สมุทรปราการ 38 ราย สระแก้ว 1 ราย รอยืนยันข้อมูล 24 ราย,

 

เขตสุขภาพที่ 7 จ.กาฬสินธุ์ 121 ราย ขอนแก่น 12 ราย มหาสารคาม 42 ราย ร้อยเอ็ด 50 ราย รอยืนยันข้อมูล 84 ราย, เขตสุขภาพที่ 8 จ.นครพนม 4 ราย เลย 3 ราย หนองคาย 4 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย อุดรธานี 3 ราย, เขตสุขภาพที่ 9 จ.ชัยภูมิ 4 ราย นครราชสีมา 5 ราย บุรีรัมย์ 4 ราย สุรินทร์ 5 ราย, เขตสุขภาพที่ 10 จ.มุกดาหาร 1 ราย ยโสธร 1 ราย อุบลราชธานี 4 ราย, เขตสุขภาพที่ 11 จ.กระบี่ 4 ราย ภูเก็ต 104 ราย สุราษฎร์ธานี 20 ราย, เขตสุขภาพที่ 12 จ.ปัตตานี 4 ราย สงขลา 1 ราย และเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร 325 ราย

 

“ผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 934 รายนั้น พบในผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 577 ราย และติดเชื้อในประเทศ 357 ราย เฉพาะวันที่ 29 ธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้น 194 ราย มาจากต่างประเทศ 88 ราย ติดเชื้อในประเทศ 106 ราย แนวโน้มพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศเริ่มชะลอตัว สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะแม้โอมิครอนจะหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงได้เช่นกัน” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาล (รพ.) เด็ก ว่า ความคืบหน้าการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็ก อายุ 5-11 ปี ในที่ประชุมมีการคาดการณ์จะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กเล็ก อายุ 5-11 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ย้ำว่าเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับวัคซีนเร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้โควิด-19 ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แบ่งการจำลองสถานการณ์ 3 ฉากทัศน์ คือ กรณีรุนแรงสุด ปานกลาง และน้อยสุด โดยทั้ง 3 ฉากทัศน์ กลุ่มที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ เด็กที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ขอให้ทุก รพ.เตรียมพร้อมให้มากที่สุดสำหรับเด็กกลุ่มนี้

 

วันเดียวกัน นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ออกมาระบุว่า การผสมผสานกันของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน เป็นตัวผลักดันให้เกิดสึนามิของการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นอันตรายร้ายแรง ภัยคุกคามคู่ของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ทั้งสองตัวอยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และยังจะสร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เหนื่อยล้าอยู่แล้ว รวมถึงผลักให้ระบบสาธารณสุขใกล้จะล่มสลายอีกด้วย แม้ประเทศร่ำรวยจำนวนมากกำลังเร่งรณรงค์ให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น การกระทำดังกล่าวกลับยิ่งทำให้การแพร่ระบาดยืดยาวออกไป เพราะเป็นการย้ายการส่งมอบวัคซีนไปจากประเทศยากจนรวมถึงประเทศที่ยังมีผู้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้ไวรัสมีโอกาสที่จะแพร่กระจายและกลายพันธุ์มากยิ่งขึ้น

 

“ขอให้ทุกคนตั้งปณิธานปีใหม่ด้วยการสนับสนุนการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนถึง 70% ของโลกในช่วงกลางปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันมีมากถึงเกือบ 100 ประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 40% ของตนเอง” นายทีโดรสกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง