รีเซต

กรมศุลกากร ว่าไง?...ปปช. รับเรื่องร้องเรียน หมูเถื่อน ทะลัก “ท่าเรือแหลมฉบัง”

กรมศุลกากร ว่าไง?...ปปช. รับเรื่องร้องเรียน หมูเถื่อน ทะลัก “ท่าเรือแหลมฉบัง”
TNN ช่อง16
4 ตุลาคม 2565 ( 14:53 )
95
กรมศุลกากร ว่าไง?...ปปช. รับเรื่องร้องเรียน หมูเถื่อน ทะลัก “ท่าเรือแหลมฉบัง”

“ท่าเรือแหลมฉบัง” เป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่คาดว่า “หมูเถื่อน” ถูกทยอยลำเลียงเข้ามาในประเทศไทย และหลบหลีกการตรวจจับด้วยการปลอมแปลงเอกสารสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลและอาหารสัตว์ ปลอมตัวเข้าไทยได้อย่างแนบเนียน แม้แต่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเครื่องสแกนด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ยังตรวจไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายอย่างไม่น่าเชื่อ  เพราะไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่ตรวจจับหมูเถื่อนได้ตั้งแต่เรือเข้าท่า หรือให้เข้าใจง่าย คือ ไม่เคยจับของกลางได้คาท่าเรือเลย  แต่ออกไปจับกุมได้ที่ห้องเย็นบ้าง หรือขณะเคลื่อนย้ายสินค้าบ้าง กลายเป็นเรื่องคาใจของผู้เลี้ยงหมูและสังคมที่จับตาดูการทำงานภาครัฐว่าปราบปรามจริงจังตามกฎหมาย อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจริงหรือ?

ล่าสุดวันที่ 29 กันยายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) รับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรตัวแทนชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ในการปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน ซึ่งไม่เคยเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบริษัทผู้นำเข้าได้ไม่ยาก ขณะที่หมูเถื่อนยังคงมีวางขายปะปนกับหมูไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ส่งผลให้ทั้ง 2 กรม ถูกจับตาจากสังคมทันที


ย้อนกลับไปดูข่าวการจับกุม “หมูเถื่อน” ของกรมศุลกากร แค่เดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมฯ แถลงข่าวเมื่อวันที่  19 กันยายน 2565 ว่าเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนปราบปรามเคลื่อนที่เร็วกองสืบสวนและปราบปราม จับกุมเนื้อสุกรลักลอบนำเข้า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565  โดยตรวจสอบรถยนต์บรรทุกพ่วง จำนวน 2 คัน บริเวณถนนซอยกิ่งแก้ว 25/1 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แต่ไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง น้ำหนักประมาณ 23,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท และวันที่ 16 กันยายน 2565 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลา ได้ตรวจค้นยานพาหนะรถยนต์บรรทุก 12 ล้อ พบเนื้อสุกรแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนประมาณ 12,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 2,340,000 บาท และไม่พบเอกสารเช่นเดียวกับกรณีข้างต้น

เกิดคำถามจากหลักฐานการจับกุมว่า ก่อนจะเกิดการเคลื่อนย้ายหมูเถื่อนทั้ง 2 กรณี หมูผิดกฎหมายเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร ตรวจสอบอย่างไรจึงไม่เจอ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นต้นสังกัดกรมศุลกากร ควรดำเนินการตรวจสอบกรมฯ ว่า “บกพร่องในหน้าที่อย่างไร” จึงปล่อยให้สินค้าลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก 


ที่น่าจับตาอีกเรื่องคือ หมูเถื่อน เริ่มระบาดหนักประมาณเดือนเมษายน 2565 หลังสต๊อกหมูไทยในห้องเย็นถูกนำมาจำหน่ายจนหมด ผ่านไป 6 เดือน กรมศุลกากรมีการรายงานสถิติการจับกุมการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรจากต่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565  มีทั้งหมด 5 คดี รวม 43,800 กิโลกรัม มูลค่า 8,940,000 บาท นับเฉพาะกรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพจับ ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก เทียบกับกรมปศุสัตว์ ทำงานคู่ขนานบุกจับห้องเย็นอีกหลายแห่งในหลายจังหวัด ยิ่งตอกย้ำความบกพร่องและละเลยในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น สำคัญที่สุดตอนนี้ คือ หมูเถื่อนยังมีอีกจำนวนมาก ทำอย่างไรภาครัฐจึงจะกำราบให้หมดสิ้นได้..อย่ากระทุ้งทีทำที

ก่อนหน้านี้ นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ชี้ว่าสถานการณ์สุกรขณะนี้มีบางอย่างผิดปกติ เนื่องจากปริมาณหมูที่ส่งเข้าพื้นที่ภาคเหนือมีมากเกินความเป็นจริง จากปกติจะมีหมูเข้าเชือดในพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ตัวต่อเดือน และมีการนำเข้าซากหมูหรือหมูที่เชือดแล้วประมาณ 2-3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำซากหมูขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน กระทบต่อยอดขายหมูมีชีวิตของฟาร์มชะลอลง 30%


“คิดไปในทางอื่นไม่ได้เลย เพราะผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรช่วยกันเลี้ยงจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปีนี้ แต่หมูในตลาดกลับเพิ่มขึ้นผิดปกติ แน่นอนว่าเป็นหมูที่นำเข้าผิดกฏหมาย เพราะประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า นอกจากจะกระทบสุขอนามัยของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศที่ตั้งใจผลิตหมูปลอดภัย ภายใต้ต้นทุนการป้องกันโรคที่สูงขึ้น และเป็นการทำลายแผนฟื้นฟูหมูไทยในระยะกลางและระยะยาวด้วย” นายสุนทราภรณ์ ย้ำ


ความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก “หมูเถื่อน” ทำลายเศรษฐกิจไทยในภาพรวม บิดเบือนกลไกตลาดและราคาที่ต่ำกว่าหมูไทย เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศต้นทางไม่บริโภค เปรียบเสมือนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารขยะที่ไทยรับมาในราคาถูก ทำลายสุขอนามัยของผู้บริโภค จากสารเร่งเนื้อแดงที่ปนมากับหมูเถื่อน รวมถึงโอกาสในการนำโรค ASF เข้ามาแพร่ระบาดในไทยอีกครั้ง เหล่านี้ล้วนเป็นตัดอนาคตของผู้เลี้ยงหมูไทยให้เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูทั้งสิ้น แล้วเมื่อไหร่คนไทยจึงจะมีหมูปลอดโรค ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสมบริโภคกันอีกครั้ง?

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง