รีเซต

นักวิทย์จีนพบ 'แสงวาบรังสีเอกซ์' เกี่ยวพันสัญญาณวิทยุปริศนา

นักวิทย์จีนพบ 'แสงวาบรังสีเอกซ์' เกี่ยวพันสัญญาณวิทยุปริศนา
Xinhua
20 ตุลาคม 2565 ( 10:52 )
105

ปักกิ่ง, 19 ต.ค. (ซินหัว) -- สถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จีนตรวจพบแสงวาบรังสีเอกซ์ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณวิทยุปริศนา (FRB) และยืนยันว่าแสงวาบดังกล่าวมีต้นกำเนิดจากแมกนีตาร์ (magnetar) ดวงหนึ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก

 

การค้นพบข้างต้นเกิดขึ้นวันเสาร์ (15 ต.ค.) ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ทั่วท้องฟ้าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงและคลื่นความโน้มถ่วง (GECAM) โดยสยงเส้าหลิน ผู้ตรวจการหลักของกล้องโทรทรรศน์ฯ และนักวิจัยของสถาบันฟิสิกส์ฯ ชี้ว่านับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถตรวจจับแสงวาบพลังงานสูงที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณวิทยุปริศนาสยงกล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้มอบข้อมูลที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความเข้าใจกลไกการแผ่รังสีของสัญญาณวิทยุปริศนาและกลไกการระเบิดของดาวแมกนีตาร์อนึ่ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์ของจีน (HXMT) ซึ่งเป็นดาวเทียมวิทยาศาสตร์อวกาศที่รู้จักในชื่ออินไซต์-เอชเอ็กซ์เอ็มที (Insight-HXMT) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศอื่นๆ ตรวจพบแสงวาบรังสีเอกซ์ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณวิทยุปริศนาครั้งแรกในเดือนเมษายน 2020สยงระบุว่าแสงวาบรังสีเอกซ์ทั้งสองครั้งข้างต้นกำเนิดจากแมกนีตาร์ดวงเดียวกันที่มีชื่อรหัสเอสจีอาร์ เจ1935+2154 (SGR J1935+2154) ซึ่งบ่งชี้ว่าดาวแมกนีตาร์สามารถปล่อยสัญญาณวิทยุปริศนาอันยากจะเข้าใจ โดยการค้นพบนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการไขความลึกลับของต้นกำเนิดสัญญาณวิทยุปริศนาสัญญาณวิทยุปริศนาคือการปะทุของคลื่นวิทยุที่สว่างที่สุดในจักรวาล โดยคลื่นเหล่านี้สั้นมากและใช้เวลาเพียงหลายมิลลิวินาทีเท่านั้น ทว่ายังไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลสำหรับต้นกำเนิดและกลไกการแผ่รังสีของคลื่นวิทยุปริศนานี้ ส่วนแมกนีตาร์เป็นดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กแรงสูงพิเศษและสามารถสร้างแสงวาบรังสีเอกซ์ที่รุนแรงได้ทั้งนี้ ภารกิจกล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ทั่วท้องฟ้าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงและคลื่นความโน้มถ่วงริเริ่มในเดือนธันวาคม 2020 โดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจจับคู่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของคลื่นโน้มถ่วง การแผ่รังสีพลังงานสูงจากสัญญาณวิทยุปริศนา แสงวาบรังสีแกมมาต่างๆ และแสงวาบจากดาวแมกนีตาร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง