รีเซต

เตือนภัย 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ หลอกให้ลงทุน-โอนเงิน

เตือนภัย 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ หลอกให้ลงทุน-โอนเงิน
TNN ช่อง16
7 มกราคม 2568 ( 12:46 )
13

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 – 5 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1,510,777 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพชักชวนลงทุนเทรดหุ้นสกุลเงินดิจิทัลมีผลตอบแทนดี ผ่านช่องทาง Line ผู้เสียหายสนใจจึงโอนเงินลงทุน ช่วงแรกได้รับผลตอบแทนจริง จึงโอนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพอ้างว่าต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมในการถอนเนื่องจากเป็นยอดมูลค่าสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป หลังจากโอนเงินแล้วก็ยังไม่สามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 1,988,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ กรมบัญชีกลางแจ้งให้ผู้เสียหายยืนยันข้อมูลการคุ้มครองเงินบำเหน็จบำนาญ จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนทาง Line ส่งแอปพลิเคชันให้ติดตั้งและทำตามขั้นตอนที่แนะนำรวมถึงขั้นตอนสแกนใบหน้า ต่อมาผู้เสียหายได้รับข้อความ SMS จากธนาคารแจ้งว่ายอดเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปจนหมด ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 3,075,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเชิญชวนเทรดหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจ จึงเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสอบถามรายละเอียด มิจฉาชีพให้โหลดแอปพลิเคชันและทำตาม ขั้นตอนต่าง ๆ จากนั้นโอนเงินเพื่อเทรดหุ้น ในช่วงแรกสามารถถอนเงินจากระบบได้ จึงโอนเงินเพิ่มและเทรดหุ้นได้จำนวนมากแต่ไม่สามารถถอนเงินได้ ต่อมาตรวจสอบข้อมูลผ่าน ทาง Google พบว่าเป็นเพจมิจฉาชีพ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 2,050,000 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางแอปพลิเคชันหาคู่ โดยใช้รูปโพรไฟล์หนุ่มหล่อหน้าตาดี จากนั้นพูดคุยสนทนากันจนสนิทใจแต่ไม่เคยพบเจอกัน ต่อมามิจฉาชีพขอให้ผู้เสียหายโอนเงินช่วยเหลือในการลงทุนทำธุรกิจพร้อมทั้งนัดพบเจอกัน และจะนำเงินมาคืนให้เมื่อถึงวันนัดหมาย ผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อได้และสงสัยในพฤติการณ์หลายอย่าง ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

และคดีที่ 5  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 2,350,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาขายรถยนต์มือสองสภาพดีราคากันเองผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดผ่านช่องทาง Messenger Facebook และได้ตกลงซื้อขายราคากัน หลังจากโอนเงินไปแล้ว ผู้เสียหายถูกบล็อกและไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 10,973,777 บาท

 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 3 มกราคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

 

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,355,182 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,152 สาย

 

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 458,680 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,182 บัญชี

 

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 139,953 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.51 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 109,645 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.90 (3) หลอกลวงลงทุน  67,534 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.72 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 42,127 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.18 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 34,742 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.57 (และคดีอื่นๆ 64,679 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.12) 

 

จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนเทรดหุ้น อ้างได้ผลตอบแทนดี หรือได้รับของรางวัล ผ่านช่องทาง Facebook , TikTok ,Line รวมทั้งหลอกให้รัก ก่อนใช้อุบายหลอกให้ลงทุนร่วมกัน หรือหลอกลวงให้ซื้อขายสินค้า 


ทั้งนี้ ขอย้ำว่า กรณีการร่วมลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ  หรือถูกอ้างว่ามีได้รับรางวัลโดยไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง 


ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ และความปลอดภัย ต่อการถูกหลอกลวง ดังนั้นขอให้สอบถามรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนให้ข้อมูลส่วนบุคคล และทำการเพิ่มเพื่อนหรือดำเนินการใดๆ ในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ควรติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง



ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง