"ลานีญา" มาแน่ แต่มาสั้น ฝนหนักน้ำท่วมบางจุด ร้อน-แล้งอยู่ยาว
"ประเทศจะยังคงอยู่กับสภาพอากาศที่ร้อนต่อเนื่อง แม้ปีนี้จะยังไม่ร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุดทุบสถิติของปีที่แล้ว 2566 ซึ่งอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เมษยน ที่ อ.เมือง จ.ตาก แต่อุณหภูมิโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกภาค ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานอุณหภูมิสูงสุดของเดือนเมษายน ปี 2567 ได้ทำลายสถิติฤดูร้อน จำนวน 38 พื้นที่ หลายจังหวัดทุบสถิติไม่เคยร้อนแบบนี้มาก่อน"
ข้อมูลจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารห้องปฏิบัติการ Future Tales Lab MQDC ที่เปิดเผยในรายการ TNNข่าวเที่ยง ว่าจากการวิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่าจากนี้ไปอีก 2 สัปดาห์อุณหภูมิประเทศไทย จะยังคงสูงขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นทุกจังหวัด และคาดการณ์หลังวันที่ 6 พฤษภาคม อุณหภูมิจะลดลงประมาณ 2 องศาเซลเซียส และเข้าสู่สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน อุณหภูมิจะลดลง 3 องศาเซลเซียส ดังนั้นเดือนมิถุนายนจึงจะเริ่มรู้สึกว่าอุณหภูมิลดลง "ยังพอไหวนะ"
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตลอดฉะนั้นอุณหภูมิจะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ดี แต่จะไม่ร้อนเหมือนเดือนเมษายนและพฤษภาคม
ส่วนหลังวันที่ 6 พฤษภาคม มีปัจจัยอะไรมาทำให้อุณหภูมิลดลงนั้น แน่นอนมาจากช่วงเปลี่ยนผ่านปรากฏการณ์ลานีญา โดยช่วงกลางปี จะมีฝนตกซึ่งจะทำให้อุณหภูมิลดลด ส่วนลานีญา จะมาทำให้ฝนมาก และน้ำท่วมหรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประเมินว่าจากสภาพอากาศพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างลานีญา กับการที่ฝนจะตกหนักทำให้น้ำท่วมในกทม.มีเพียง 0.25 เท่านั้น
ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า ลานีญามาแล้ว จะทำให้น้ำท่วม ในทางกลับกัน เอลนีโญมา ก็อาจทำให้น้ำท่วมได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็มี ดังนั้นต้องรอดูสถานการณ์สภาพอากาศเป็นระยะ
"เตือนฤดูฝนมาช้า เสี่ยงกระทบทำนาปีของเกษตรกร แนะให้เลื่อนทำนาปี "
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประเมินด้วยว่า ช่วงต้นฤดูฝนไปจนถึงเดือนมิถุนายน ฝนยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติทุกภาค ดังนั้นจะส่งผลกระทบต่อฤดูนาปีของเกษตรกร ขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งทำนาปีเร็วเกินไป หากเริ่มทำเดือนพฤษภาคม เกษตรกรจะเจอวิกฤตหนักและเหนื่อยเพราะน้ำต้นทุนไม่มี จะเห็นได้จากขณะนี้ทั่วประเทศมีการประกาศภัยแล้งกันหลายพื้นที่หลายจังหวัด บางพื้นที่วิกฤตแล้งหนัก ฉะนั้นควรจะเลื่อนเวลาทำนาปีไปจนถึงช่วงกลางฤดูฝน หรือประมาณ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไปจะเริ่มเห็นฝนที่จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น หมายถึง จะมีฝนตกต่อเนื่อง
"เฝ้าระวัง ลานีญา มาช่วงเวลาสั้นๆ ทำฝนตกหนัก น้ำท่วมรอระบายบางจุด"
โดยตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จนถึงปลายปี ฝนจะเริ่มดีขึ้น ประเมินว่าช่วงปลายปีจะมีน้ำท่วมบางแห่งบางพื้นที่ สาเหตุเพราะการเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญไปสู่ลานีญา อย่างไรก็ตาม ลานีญาไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อปริมาณฝน แต่โลกร้อนมีนัยยะสำคัญมากว่าซึ่งมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น
ดังนั้นปรากฎการณ์ลานีญา จะทำให้ปริมาณฝนตกในเวลาจำกัด หมายถึงฝนตกในช่วงเวลาสั้นๆแต่ก็จะมีน้ำท่วมรอการระบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและสามารถคาดการณ์ได้เพียง 1 สัปดาห์ หรือ 2-3 วันล่วงหน้าเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ปริมาณน้ำภาพรวมปีนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ปริมาณฝนจะน้อย เพราะช่วงกลางปีถึงปลายปี ร่องฝนจะเริ่มลงมาทางตอนล่างของประเทศ ในขณะที่ ภาคเหนือและภาคอีสาน มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศเช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ อาจจะไม่มีฝนไปเติมน้ำต้นทุน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักเรื่องวิกฤตภัยแล้ง
ส่วนปรากฏการณ์ลานีญาจะอยู่นานแค่ไหน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ มีการประเมินไปถึง 5 ปีข้างหน้า โดยพบว่า ลานีญา จะมาแค่ปลายปีนี้(2567) โดยช่วงมกราคมกุมภาพันธ์ มีนาคม 2568 จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นกลาง ก่อนจะกลับไปสู่เอลนีโญอีกครั้ง และมีโอกาสจะเข้าเอลนีโญปลายปี 2568 ต่อเนื่องปี 2569
โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญามีความถี่เพิ่มขึ้น ในอดีตจะเกิด 3-5 ปี แต่จากนี้จะเกิดปีเว้นปี ดังนั้นต้องปรับตัวให้ทัน
ส่วนการเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญไปสู่ลานีญาจะส่งผลอย่างไรกับจำนวนพายุตามฤดูการณ์รวมถึงพายุจร ประเมินจากแบบจำลองพบว่าจำนวนพายุจนถึงเดือนตุลาคม จะมีพายุโซนร้อนเกิดขึ้น 18 ลูก จากค่าเฉลี่ยจำนวนที่จะเกิดพายุ 20 ลูก แต่จะมีโอกาสผ่านไทยประมาณ 2 ลูก แต่ก็ต้องติดตามเป็นระยะ เนื่องจากสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้เพียง 3-5 วันและต้องติดตามว่าพายุเข้าพื้นที่ไหน น้ำท่วมจะเกิดที่นั่นแน่นอน แต่จะเป็นน้ำท่วมรอการระบายจากพายุ แบบรายวัน หรือ ราย 3 วัน ไม่ใช่น้ำท่วมใหญ่
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ยังประเมินด้วยว่า ในเชิงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จะทำให้พายุที่มีความรุนแรงอยู่แล้ว จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และถ้ามองภาพรวมลานีญา ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งเอเชียจะสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งสูงขึ้นกว่าฝั่งอเมริกา ฉะนั้นพายุย่อมมาเกิดใกล้ประเทศไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มอาจจะมีพายุเข้าไทยมีความรุนแรงขึ้น เช่น พายุโซนร้อนจะกลายเป็นไต้ฝุ่นมากขึ้น หรือ พายุไต้ฝุ่นจะกลายเป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น แต่หากเป็นเพียงพายุดีเปรสชั่น อาจจะไม่มีผลกระทบมากนัก
อย่างไร็ตามเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ การแจ้งเตือนภัยต้องมีความแม่นยำชัดเจนเพื่อให้ประชาชนรับมือเหตุการณ์
นับวันภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลก ยิ่งส่งผลรุนแรง ทั้งที่สหรัฐฯและจีน เผชิญทอร์นาโดพัดถล่มเสียหายหลายเมือง รวมถึงคลื่นความร้อนในทวีปเอเชีย สะท้อนให้เห็นชัดขึ้นว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากทุกคนยังไม่เริ่มต้นในการช่วยกันลดอุณหภูมิ ในอนาคตทุกคนย่อมหนีไม่พ้นจากภัยธรรมชาติรุนแรงและจะมาในทุกรูปแบบ
ข้อมูลจาก :
กรมอุตุนิยมวิทยา
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหารห้องปฏิบัติการ Future Tales Lab MQDC