รีเซต

สธ.ชี้ 'โอไมครอน' เหมือนไข้หวัด ยังไม่พบในไทย ไม่ถึงขั้นปิดประเทศ-งดเคาต์ดาวน์

สธ.ชี้ 'โอไมครอน' เหมือนไข้หวัด ยังไม่พบในไทย ไม่ถึงขั้นปิดประเทศ-งดเคาต์ดาวน์
ข่าวสด
30 พฤศจิกายน 2564 ( 14:57 )
52
สธ.ชี้ 'โอไมครอน' เหมือนไข้หวัด ยังไม่พบในไทย ไม่ถึงขั้นปิดประเทศ-งดเคาต์ดาวน์

สธ.ชี้ 'โอไมครอน' เหมือนไข้หวัด ลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ไม่พบรุนแรงมากกว่า ลั่นยังไม่เจอในไทย ไม่ถึงขั้นปิดประเทศ-งดเคาต์ดาวน์

 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. ให้สัมภาษณ์ถึงการเพิ่มมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย หลังจากเริ่มพบว่าเชื้อกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ในหลายประเทศว่า สำหรับไวสรัสกลายพันธุ์โอไมครอน มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดทุกชั่วโมง เบื้องต้นองค์การอนามัยโลกระบุว่า ลักษณะการระบาดใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่า

 

“อาการสำคัญเหมือนโรคไข้หวัดคือ เพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ประมาณ 2 – 3 วัน ก็จะดีขึ้น ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ที่สำคัญขณะนี้ระบาดในประเทศแถบแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะ 8 ประเทศ ที่เราได้ประกาศไม่อนุญาตให้เข้าไทยแล้ว ทั้งในระบบไม่กักตัว (Test and go) และแซนด์บอกซ์ (sand box) ได้แก่ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ยกเว้นคนไทยยังสามารถเข้ามาได้โดยต้องกักตัว 14 วัน"

 

"สำหรับระบบ Test and go เราเสนอไปทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.แล้วว่า แม้การตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ยังสามารถตรวจพบเชื้อได้ แต่ยังขอให้ใช้เป็นอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ต่อไปไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 เพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกันนักวิชาการก็ระบุว่า วัคซีนยังสามารถใช้ได้ มีประสิทธิภาพ หากถามว่าโอไมครอนจะมาหรือไม่ เชื่อว่าทางอากาศยังกั้นได้อยู่ แต่อาจมาทางบกหรือลักลอบได้ทุดเมื่อ แต่ขณะนี้เรายังปิดทุกด่าน สำหรับด่าน จ.หนองคาย เรากำลังวางระบบจะเปิดอยู่ คาดว่าหลังวันที่ 16 ธ.ค.นี้ แต่คิดว่าไม่น่าจะปัญหา ซึ่งความรุนแรงยังเป็นเดลตาที่เราเจอมาและยังไม่พบในไทย” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไปประมาณร้อยละ 30 ขณะนี้ยังมีพอเหลือ ส่วนยา มีการสำรองฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อย 45 วัน วันละ 5 แสนเม็ด และสั่งเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ ยังมีการทำสัญญาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอร์ส จะเข้ามาในเดือนมกราคม 2565

 

“ไทยเราวัคซีนค่อนข้างดี ฉีดเข็มที่ 1 แล้วกว่าร้อยละ 72 ซึ่งทนายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ถึงร้อยละ 75 คาดว่าในสิ้นปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายมาฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีวัคซีนมากพอ วัคซีนภาครัฐมีราวๆ 140 ล้านโดส วัคซีนทางเลือกประมาณ 20-30 ล้านโดส” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้จำป็นต้องประกาศเพิ่มชื่อประเทศที่ห้ามเข้าไทย จากเดิม 8 ประเทศอีกหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ห้ามเข้าไทย 8 ประเทศ ส่วนประเทศใกล้เคียงนั้น ทุกคนที่เข้ามาจะกักตัว ส่วนการประกาศเพิ่มประเทศในขณะนี้ ยังไม่มีการพิจารณาเพิ่ม

 

เมื่อถามถึงความกังวลว่าจะต้องมีการปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงชะลอจัดเทศกาลปีใหม่ด้วย นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น จึงอยากให้ทุกคนร่วมมือช่วยกันไม่ให้เกิดการระบาด เพราะเราก็ไม่ได้อยากปิดอีกครั้ง โดยย้ำว่า การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือ ยังสามารถป้องกันการแพร่และรับเชื้อโควิด-19 ได้ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง