รีเซต

เปิดไทม์ไลน์ set zero ปมความวุ่นวายและขัดแย้งใน ม.นครพนม ก่อนถูก อว.ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

เปิดไทม์ไลน์ set zero ปมความวุ่นวายและขัดแย้งใน ม.นครพนม ก่อนถูก อว.ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ
77ข่าวเด็ด
8 พฤษภาคม 2563 ( 05:02 )
326
เปิดไทม์ไลน์ set zero ปมความวุ่นวายและขัดแย้งใน ม.นครพนม ก่อนถูก อว.ยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

 

นครพนม – ช็อกวงการศึกษา หลังกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) set zero ปลดชุดบริหารมหาวิทยาลัยนครพนมยกชุด พร้อมตั้งกรรมการเข้าควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยแต่งตั้งให้ นายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา(กกอ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวม 7 คนส่งผลให้ผู้บริหารรวมทั้งสภามหาวิทยาลัยนครพนมต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

 

 

สาเหตุที่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมฯดังกล่าวเนื่องเพราะ มนพ.มีปัญหาความขัดแย้งภายในยืดเยื้อมายาวนาน และไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและนักศึกษา นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.อว. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 51 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ตั้งกรรมการเข้าควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไปอีก และนับจากนี้คือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะถูก รมว.อว.ใช้ ม.51 เข้าควบคุมการบริหารงานของ มนพ.


เนื่องจากปัญหาความวุ่นวายและขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยนครพนม(มนพ.) ที่หมักหมมยืดเยื้อมานานเกือบ 10 ปี ได้ถูกเปิดเผยมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นผลประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมหาศาล กรรมการสภาของมหาวิทยาลัย ก็ได้เข้าสู่ตำแหน่งโดยการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ เพื่อช่วยโหวตยกมือมติต่างๆ ให้ผ่านอย่างง่ายดาย โดยใช้พวกมากลากไปไม่คำนึงถึงความถูกต้องและหลักธรรมาภิบาล ผู้ที่เข้ามาในวังวนนี้จึงทนสิ่งยั่วยวนไม่ไหว จนก่อเกิดกิเลสตักตวงผลประโยชน์ไปเป็นสมบัติของตัวเอง กลายเป็นคนศีลกร่อน นานวันเข้าก็คิดว่า มนพ.เป็นสมบัติและแหล่งเก็บกินผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง อยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และกฎกติกาของสังคม ผู้เสพอำนาจก็มักจะแต่งตั้งคนของตนเองเข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เพื่ออาศัยคะแนนเสียงเมื่อทำอะไรที่ต้องอาศัยมติที่ประชุมสภาฯ อีกทั้งยังวางทายาทสืบทอดอำนาจเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และลาภยศอย่างต่อเนื่อง

 

 

ใครเข้ามาขวางก็จะถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆนาๆ ครูบาอาจารย์แบ่งเป็นฝักฝ่าย ลุกลามไปถึงการเรียนการสอนที่ไร้ประสิทธิภาพ นักศึกษาที่เรียนจบจากสถาบันนี้ เรียนบ้างไม่เรียนบ้างก็จบ เหมือนคนอีสานมักจะเปรียบเปรยว่าเอาไก่จ้างออก แต่พอไปโลดแล่นในสังคมกว้างกลับทำงานให้นายจ้างไม่ได้ จึงมีบางบริษัทไม่รับคนที่เรียนจบมาจากสถาบันแห่งนี้ แต่คนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กลับไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขณะนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ จนคณาจารย์ที่ตั้งใจสร้างบุคลากรมาพัฒนาชาติถอดใจ ทำให้กลุ่มบุคคลที่อยู่ในขบวนการนี้ผยองลำพอง นำพรรคพวกที่สถาบันอื่นไม่ต้อนรับมาอยู่จนแน่น วางขุมกำลังโครงข่ายไปอยู่ในคณะ สาขาต่าง ๆ เพื่อคอยสอดส่องว่ามีคณาจารย์คนไหนไม่สนองนโยบายบางอย่างบ้าง ก็จะถูกกำจัดออกนอกเส้นทางทันที

 

ไทม์ไลน์ความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยนครพนม(มนพ.) กลายเป็นแผลลึกและเน่า ยากที่จะเยียวยาตราบใดที่ยังไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยกู้วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ให้เบ็ดเสร็จ แล้วสรรหาบุคคลมาบริหารสถาบันแห่งนี้ใหม่ ที่มีความจริงใจและตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาโดยยึดอนาคตของนักศึกษาเป็นที่ตั้ง โดยเหตุการณ์ความวุ่นวายใน มหาวิทยาลัยนครพนม เริ่มคุกรุ่นมาเนิ่นนาน และมาระเบิดขึ้นเมื่อต้นปี 2563โดยจะได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฉากๆ ดังนี้

 

 

เริ่มจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(รมว.อว.) มีหนังสือที่ อว.0233.3(3.23)/8600 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ถึง ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เรื่องการส่งเรื่องให้ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ กรณีที่มีการกล่าวหาร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาฯ เพราะไม่ดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องบินฝึกบินไปส่งบุคคลภายนอกจน เป็นเหตุให้เครื่องบินตกมีผู้เสียชีวิต 3 คน หนึ่งในนั้นมีนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รองอธิการบดี มนพ.(ในขณะนั้น) และผลการสอบสวนชี้ว่ามี 4 คน ที่ร่วมกันกระทำความผิดในครั้งนี้ แต่เรื่องกลับไม่ถูกนำมาเข้าวาระการประชุมสภา มนพ. เนื่องจากหนึ่งในสี่คนนั้น เป็นเด็กสร้างของบางคนในสภา มนพ. ที่ถูกวางตัวเป็นผู้บริหารในอนาคต

 

วันที่ 10 มกราคม 2563 สภา มนพ. ได้เปิดประชุมครั้งที่ 1/2563 และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีฯ(รก.อธก.มนพ.) ตามคำสั่งสภา มนพ.ที่ 001/2563 ลงวันที่ 10 มกราคม 2563 และในคราวเดียวกันนั้น ยังมีคำสั่งสภาฯที่ 002/2563 ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก เป็นรักษาราชการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และได้แต่งตั้งให้ ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เป็นรักษาการราชการอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมแทน

 

 

รุ่งขึ้นวันที่ 11 มกราคม 2563 มีคนกลุ่มหนึ่ง อ้างเป็นกรรมการสภาฯเสียงข้างมาก จำนวน 9 คน ยื่นหนังสือต่อ ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ นายกสภา มนพ. คัดค้านคำสั่งสภาฯ ที่ 002/2563 โดยอ้างว่าคำสั่งแต่งตั้ง ศ.ดร.อภิรัฐฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการลงมติ ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนม

 

วันที่ 12 มกราคม 2563 กลุ่มอำนาจเก่าที่คุมเสียงส่วนใหญ่ในสภามหาวิทยาลัยนครพนม ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันหนักหน่วงขึ้น หลังจากมีคำสั่งปลดคนเก่าและแต่งตั้งคนใหม่ได้เพียงสองวัน ก็มีกรรมการสภาฯ 10 คน ส่งหนังสือถึง ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร รก.อธก.มนพ. คนใหม่ อ้างคำสั่งที่ 002/2563 เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการลายมือชื่อกรรมการรวม 10 คน คัดค้านหัวชนฝา เพื่อกดดันและข่มขู่ให้ ดร.อภิรัฐ ลาออก

 

 

13 มกราคม 2563 ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก อดีต รก.อธก.มนพ. ได้มีหนังสือถึงนายสุนทร บุญญาธิการ นายกสภาฯ เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยด่วน โดยอ้างเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้นยัง ได้ส่งสำเนาหนังสือถึง กรรมการสภาฯ และศ.ดร.อภิรัฐ เพื่อทราบอีกด้วย

 

และระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2563 มีการเผยแพร่ข้อมูลทางไลน์กลุ่มของผู้บริหาร ม.นครพนม โดยผู้ที่ใช้ชื่อ”บุญรอด” ซึ่งเนื้อหาไปสอดคล้องกับข่าวประชาสัมพันธ์ของฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.นครพนม ที่มีอดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งเป็นผู้เขียน ว่า ไม่มีการปลดอดีต รก.อธก.มนพ. เป็นแต่เพียงการโยกไปรับตำแหน่งอื่น ในระหว่างการสอบสวนวินัยร้ายแรงเท่านั้น และการสอบสวนจะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2 เดือน ก็จะได้กลับมาดำรงตำแหน่งเช่นเดิม ขณะเดียวกัน มีแถลงการณ์เผยแพร่ทางไลน์ NPU group อ้างเป็นชื่อนายฑีรัตน์ฯ ระบุว่าเป็นแถลงการณ์ของสภาคณาจารย์ มนพ. มีข้อความโจมตีการประชุมสภา มนพ. และคัดค้านการแต่งตั้ง ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็น รก.อธก.มนพ. แทน ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก

 

 

วันที่ 15 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. มีคณาจารย์กลุ่มหนึ่ง เปิดประชุมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เนื้อหาหลักคือการคัดค้านมติสภา มนพ. กล่าวหานายกสภาฯเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยประธานในที่ประชุม กำชับคณาจารย์ในที่ประชุมเกือบ 30 คน ห้ามให้ความร่วมมือกับ รก.อธก.มนพ.คนใหม่ หากไม่เชื่อฟังหลังวันที่ 19 มกราคม 2563 ตนจะกลับมาแล้วจะเช็คบิลทุกคน

 

ขณะเดียวกันมีหนังสือจากชายชราคนหนึ่ง ที่เคยมีอำนาจอยู่ในสภา มนพ. เขียนถึงนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 7 หน้ากระดาษ A 4 เนื้อหาส่วนใหญ่ตำหนิการทำงานของนายกสภา มนพ.ที่เชื่อที่ปรึกษามากเกินไปจนนำไปสู่การออกคำสั่งปลดรักษาการอธิการบดีคนเก่าและแต่งตั้งคนใหม่ พร้อมตำหนิการดำเนินการของ สกอ. และ กกอ.ว่าเป็นการสมคบคิดของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มุ่งเล่นงานตนเองและพวก อีกทั้งยังแนะนำให้เอาเด็กของตนกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิม โดยวางแผนให้ศิษย์รักลาไปพัฒนาตนเองระหว่างถูกสอบวินัยร้ายแรง โดยให้ดึงคนในทีมมาเป็น รก.อธก.มนพ.ไปพลางก่อน

 

 

วันที่ 16 มกราคม 2563 ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก มีหนังสือถึงนายกสภา มนพ. คัดค้านคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยอ้างว่าคณะกรรมการชุดนี้มาจากการชี้นำของที่ปรึกษาสภาฯ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งต่อมาที่ปรึกษาฯได้โต้กลับพร้อมให้เหตุผลว่า กรรมการชุดสอบสวนวินัยร้ายแรงคณะนี้ เป็นคนกลางและไม่มีส่วนได้เสียกับการสอบสวนดังกล่าว


วันที่ 17 มกราคม 2563 ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร รก.อธก.มนพ.คนใหม่ ทนแรงกดดันทั้งภายนอกและภายใน มนพ.ไม่ไหว เพราะมีเสียงข่มขู่ ถึงขนาดจะเอาชีวิตตนเอง ลามไปถึงครอบครัว จึงถอดใจยื่นหนังสือขอลาออกจาก รก.อธก.มนพ. โดยอ้างเหตุผลของการลาออกว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ

 

ในวันเดียวกันที่ กทม. มีการพบปะกันระหว่างบอร์ด มนพ.คนปัจจุบันกับอดีตบอร์ด มนพ. และเด็กคนสนิทของอดีตบอร์ด โดยสั่งให้ดำเนินการเปิดประชุมสภา มนพ. ในวันที่ 19 มกราคม นี้ และขอเลขที่คำสั่งจำนวน 1 เลข โดยอดีตบอร์ดไม่ได้บอกว่านำไปทำอะไร


วันที่ 17 มกราคม อีกเช่นกัน สภา มนพ. มีคำสั่งสภาฯที่ 005/2563 ยกเลิกการแต่งตั้ง ศ.ดร.อภิรัฐฯ ขณะเดียวกันนายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา กรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการสภา มนพ. จำนวน 10 คน ที่ทำหนังสือคัดค้านมติสภาฯ ที่ สภ.เมืองนครพนม

 

 

วันที่ 18 มกราคม 2563 กรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และที่ปรึกษาสภาฯอีก 3 คน รวมเป็น 6 คน ทนความอัปยศไม่ไหวได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง

วันที่ 19 มกราคม 2563 สภา มนพ. เปิดประชุมครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. โดยพิจารณาวาระลับที่ 3.5 มีมติรับทราบคำสั่งสภาฯ ที่ 005/2563 ลงวันที่ 17 มกราคม 2563 เรื่องยกเลิกคำสั่งสภาฯ ที่ 002/2563 และในที่ประชุมอาศัยพวกมากลากไป ลุ่มหลงในอำนาจจนไม่ฟังเสียงคัดค้านของใคร ให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก กลับมาเป็น รก.อธก.มนพ.โดยไม่ผ่านกระบวนการสรรหา

 

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ได้เขียนใบลาอ้างเพื่อไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งใบลาที่เขียนนั้นเป็นใบลาคลอด จึงกลายเป็นเรื่องครื้นเครงในกลุ่มคณาจารย์


พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ที่อ้างเป็น รก.อธก.มนพ. ได้ออกคำสั่ง มนพ.ที่ 0128/2563 เรื่องมอบหมายให้ ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลี รองอธิการบดี มนพ. เป็นผู้รักษาราชการแทนฯ ในระหว่างที่ตนเองลาไปเพิ่มพูนความรู้ตามที่ระบุไว้

 

 

นอกจากนี้สภา มนพ.ยังมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่ายว่าเป็นสภาพวกมากลากไป และจากปมเหตุการณ์ในวันนี้นี่เองที่กลายเป็นข้อถกเถียงในข้อกฎหมายกันว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ยังมีสถานะเป็นรักษาการอธิการบดีฯ อยู่หรือไม่ และการแต่งตั้ง ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลี รักษาราชการแทนตนเองนั้นขัดต่อกฎหมายหรือไม่

 

ด้าน ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร อดีต รก.อ.มนพ. 7 วัน เปิดเผยต่อผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า ทำงานใน มนพ. เหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงหมาบ้าและกักขฬะที่สุด อีกทั้งยังขยายลามปามไปถึงครอบครัว เพื่อความปลอดภัยตนจึงต้องขอลาออก โดย ศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร ฝากไปถึงกระทรวง อว. ว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ รมว.อว.ต้องล้างไพ่ใน มนพ.ใหม่ทั้งหมด มิเช่นนั้นจะเป็นการหยั่งรากฝังลึก เป็นทายาทอสูรจากรุ่นสู่รุ่นไม่มีวันจบ

 

 

แหล่งข่าววงใน มนพ.รายหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยในการกระทำของกลุ่มผู้บริหาร เปิดเผยด้วยความห่อเหี่ยวใจว่า มีกรรมการสภา มนพ.บางคน ทำตัวเป็นเทวดาอยู่เหนือคนอื่น การประชุมสภาฯในแต่ละครั้ง จะชี้นิ้วสั่งการว่าจะทานอาหารร้านไหน ไวน์ต้องยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ แม้กระทั่งโรงแรมที่พักก็จะเป็นคนกำหนดเองทุกอย่าง

 

กระทั่งล่าสุด นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.อว. ลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการควบคุม มหาวิทยาลัยนครพนม โดยแต่งตั้งให้ นายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา(กกอ.) เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวม 7 คน ตามที่เสนอข่าวไป และหลังจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวทำงาน ก็จะโล๊ะระบบเดิมที่เป็นปัญหา จากนั้นจึงจะสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม ตามลำดับ แต่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่ากว่าจะปัดกวาดขยะเหล่านี้หมดจะต้องใช้เวลากี่ปี มหาวิทยาลัยนครพนมจะไฉไลโดดเด่นเป็นมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน ที่ดีในลุ่มแม่น้ำโขงได้หรือไม่ รอดูการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 7 ท่าน

 

อันดับแรกที่ต้องลงมือทำทันทีคือ ปลดลิ่วล้อของกลุ่มอำนาจเดิมให้หมด กลั่นกรองคณาจารย์น้ำดีเข้ามาทำงานเพื่อนักศึกษาและมหาวิทยาลัยนครพนมซึ่งเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวนครพนม เนื่องเพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัยนครพนม มีสภาวะถดถอยจนถูกมหาวิทยาลัยอื่นที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทิ้งห่างอย่างไม่เห็นฝุ่นแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง