ยูนิเซฟเผยยอด 'เด็กพลัดถิ่น' ทั่วโลก พุ่งสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
สหประชาชาติ, 17 มิ.ย. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (17 มิ.ย.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) รายงานว่ามีเด็กพลัดถิ่นฐานเพราะความขัดแย้ง ความรุนแรง และวิกฤตอื่นๆ สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 36.5 ล้านราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 2021 ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
ตัวเลขข้างต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.2 ล้านรายในปี 2021 ประกอบด้วยเด็กอพยพและเด็กลี้ภัย 13.7 ล้านราย และเด็กพลัดถิ่นภายในประเทศเพราะความขัดแย้งและความรุนแรงเกือบ 22.8 ล้านคน
ทว่าตัวเลขข้างต้นไม่นับรวมเด็กพลัดถิ่นเพราะผลกระทบและภัยพิบัติทางสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม และเด็กพลัดถิ่นในปี 2022 ซึ่งรวมถึงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
ตัวเลขที่สูงทำสถิตินี้เป็นผลลัพธ์โดยตรงของสารพัดวิกฤตทับซ้อน ซึ่งครอบคลุม "ความขัดแย้งฉับพลันและยืดเยื้อ อาทิ ความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน และความเปราะบางในหลายประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือเยเมน ซึ่งล้วนเลวร้ายยิ่งขึ้นด้วยผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แคเธอรีน รัสเซลล์ กรรมการบริหารยูนิเซฟ แสดงความหวังว่าตัวเลขอันน่าตกใจนี้จะผลักดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ปกป้องเด็กจากการพลัดถิ่นฐานและรับรองการเข้าถึงการศึกษา การป้องกัน และบริการจำเป็นอื่นๆ ของเด็กพลัดถิ่น
รายงานเสริมว่ามีเด็กลี้ภัยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้สมัครเข้าโรงเรียนประถม และมีเด็กลี้ภัยไม่ถึง 1 ใน 4 ได้เข้าโรงเรียนมัธยม ขณะเด็กพลัดถิ่นและลี้ภัยจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ต้องการการสนับสนุนและบริการต่างๆ อย่างการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครอง
ทั้งนี้ ยูนิเซฟระบุว่าเด็กที่เดินทางโดยลำพังหรือถูกพรากจากครอบครัวกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงจากการลักลอบค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง และการล่วงละเมิด โดยเด็กทั่วโลกครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 28 ของเหยื่อการลักลอบค้ามนุษย์