รีเซต

นักวิจัยค้นพบพายุสุริยะรุนแรงเคยพัดถล่มโลกในอดีตเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาล

นักวิจัยค้นพบพายุสุริยะรุนแรงเคยพัดถล่มโลกในอดีตเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาล
TNN ช่อง16
16 พฤษภาคม 2568 ( 17:30 )
17

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานใหม่ของปรากฏการณ์จักรวาลขนาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 12,350 ปีก่อนคริสตศักราช (หรือประมาณ 14,300 ปีก่อนปัจจุบัน)โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษ จนสามารถทิ้งร่องรอยไว้ในแกนน้ำแข็งโบราณและลำต้นของต้นไม้ที่กลายเป็นฟอสซิล ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ที่ชี้ชัดถึงพายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยตรวจพบ

ทีมงานวิจัยมหาวิทยาลัยโอวลู (Oulu)

ทีมวิจัยนำโดย เคเซเนีย โกลูเบนโก (Kseniia Golubenko) นักฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยโอวลู (Oulu) ประเทศฟินแลนด์ ได้ใช้แบบจำลองเคมีภูมิอากาศที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะชื่อว่า SOCOL:14C-Ex เพื่อศึกษาผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว โดยพบว่าการไหลบ่าของอนุภาคในช่วงเวลานั้นเป็นผลมาจากการปะทุของดวงอาทิตย์ครั้งใหญ่ที่ส่งอนุภาคพลังงานสูงเข้าสู่โลกในรูปของพายุแม่เหล็กโลก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ

นักฟิสิกส์อวกาศ เคเซเนีย โกลูเบนโก กล่าวว่า "เมื่อเทียบกับพายุอนุภาคสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในยุคดาวเทียมสมัยใหม่ เช่น เหตุการณ์ในปี 2005 พายุเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาลมีความรุนแรงมากกว่าถึง 500 เท่า ตามการประมาณของเรา"

พายุแม่เหล็กโลก หรือที่มักสัมพันธ์กับการพุ่งของมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejection: CME) คือ การปล่อยพลาสมาจำนวนมหาศาลจากดวงอาทิตย์ที่พันกับสนามแม่เหล็ก ซึ่งเมื่อพุ่งมายังโลกสามารถก่อให้เกิดทั้งแสงออโรร่า และความเสียหายต่อเทคโนโลยี เช่น ระบบสื่อสารและโครงข่ายไฟฟ้า ตัวอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ เหตุการณ์คาร์ริงตันในปี ค.ศ. 1859 ซึ่งทำลายระบบโทรเลขทั่วโลก และอีกกรณีในปี ค.ศ. 1989 ที่ทำให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่

นักวิจัยค้นพบพายุสุริยะที่รุนแรงในอดีตอย่างไร ?

แม้มนุษย์จะทราบว่าดวงอาทิตย์สามารถปลดปล่อยพลังงานได้รุนแรงกว่านี้ แต่ข้อจำกัดของบันทึกในประวัติศาสตร์ทำให้การประเมินความรุนแรงของพายุสุริยะเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ตรวจจับร่องรอยของเหตุการณ์ดังกล่าว คือ การวัดระดับ คาร์บอนกัมมันตรังสี-14 (Carbon-14) ที่สะสมบนโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ

สำหรับคาร์บอน-14 เกิดขึ้นเมื่ออนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศปะทะกับชั้นบรรยากาศโลก และจะถูกดูดซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิต เช่น ต้นไม้ โดยคาร์บอนนี้จะสะท้อนออกมาในรูปของความเข้มข้นในวงปีของต้นไม้ ด้วยการวิเคราะห์ระดับคาร์บอน-14 ที่พุ่งสูงผิดปกติในช่วงเวลานั้น นักวิจัยจึงสามารถระบุช่วงเวลาและขอบเขตของเหตุการณ์พายุสุริยะได้อย่างแม่นยำ

การวิเคราะห์ล่าสุดนี้ช่วยยืนยันว่าพายุแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาล คือ เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ตรวจพบ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เคยมีการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ เช่น เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 774, 994,660 ปีก่อนคริสตกาล, 5,259 ปีก่อนคริสตกาล และ 7,176 ปีก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 774 ซึ่งก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุด

สิ่งที่ทำให้พายุสุริยะครั้งนี้มีความพิเศษ

สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์เมื่อ 12,350 ปีก่อนแตกต่าง คือ มันเกิดขึ้นนอกช่วงยุคโฮโลซีน (Holocene) ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ 12,000 ปีที่ผ่านมาที่โลกมีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นและค่อนข้างเสถียร 

โกลูเบนโกอธิบายว่า “เหตุการณ์นี้ถือเป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่ทราบว่ามีความรุนแรงขนาดนี้ในช่วงก่อนยุคโฮโลซีน แบบจำลองของเราช่วยขยายขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลคาร์บอนกัมมันตรังสีในสภาพภูมิอากาศของยุคน้ำแข็ง”

ทีมวิจัยได้ทดสอบแบบจำลอง SOCOL:14C-Ex กับข้อมูลของเหตุการณ์ในปี 774 เพื่อพิสูจน์ความแม่นยำ ก่อนจะนำมาใช้กับข้อมูลจาก 12,350 ปีก่อนคริสตกาล ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ทั้งความรุนแรง ระยะเวลา และผลกระทบของพายุได้อย่างครอบคลุม 

นักฟิสิกส์อวกาศ เคเซเนีย โกลูเบนโก  สรุปว่า “เหตุการณ์นี้ได้เปิดมุมมองใหม่ในการประเมินความเสี่ยงจากพายุสุริยะในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม ระบบไฟฟ้า หรือระบบสื่อสาร” 

งานวิจัยเรื่องพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาล ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Earth and Planetary Science Letters เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2025

นักวิจัยศึกษาพายุสุริยะไปเพื่ออะไร ?

การศึกษาพายุสุริยะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติ เนื่องจากพายุสุริยะสามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อเทคโนโลยีพื้นฐานที่สังคมสมัยใหม่พึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม ระบบนำทาง GPS เครือข่ายการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต ไปจนถึงโครงข่ายไฟฟ้า 

หากพายุสุริยะขนาดใหญ่ปะทุขึ้นและส่งอนุภาคพลังงานสูงมายังโลกโดยไม่มีการเตรียมรับมือ ผลกระทบอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ล่มทั้งระบบในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลต่อความปลอดภัย การดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก

นอกจากนี้ การเข้าใจกลไกและความถี่ของพายุสุริยะยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์ล่วงหน้า และเตรียมมาตรการป้องกันล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปิดระบบดาวเทียมหรือป้องกันหม้อแปลงไฟฟ้าในช่วงเวลาวิกฤต 

การศึกษาเหตุการณ์ในอดีต เช่น พายุสุริยะเมื่อ 12,350 ปีก่อนคริสตกาล ยังช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาติของดวงอาทิตย์ในระยะยาว และเตือนเราว่าภัยพิบัติจากอวกาศไม่ใช่เพียงเรื่องสมมุติ แต่เป็นภัยคุกคามจริงที่มนุษยชาติต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างรอบคอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง