รีเซต

จุรินทร์ ตั้งเป้าได้ผู้ประกอบการจาก ธุรกิจแฟรนไชส์ 10,000 ราย

จุรินทร์ ตั้งเป้าได้ผู้ประกอบการจาก ธุรกิจแฟรนไชส์ 10,000 ราย
มติชน
5 มีนาคม 2565 ( 13:39 )
43
จุรินทร์ ตั้งเป้าได้ผู้ประกอบการจาก ธุรกิจแฟรนไชส์ 10,000 ราย

มัลลิกา เผย จุรินทร์ ตั้งเป้าได้ผู้ประกอบการจาก ธุรกิจแฟรนไชส์ 10,000 ราย โครงการเดียว สร้างงานสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ลูกจ้าง ปี 65

 

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2565 ทั้งนี้ เป็นการติดตามนโยบายที่มอบไว้เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพทั่วภูมิภาคในประเทศ ขณะเดียวกันต้องการเร่งผลักดันนโยบายให้ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะได้ผู้สร้างอาชีพจนเป็นผู้ประกอบการในโครงการเดียวนี้ 10,000 ราย ภายใน 1 ปี

 

โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานว่า โครงการนี้จะได้รับความรู้เกณฑ์มาตรฐาน การให้คำปรึกษาเชิงลึก การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การศึกษาดูงานแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ ถึง 14 มี.ค.65 อันนี้เพื่อเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานว่า ได้กำหนดจัดกิจกรรม “ปั้นแฟรนไชส์มาตรฐาน สร้างรายได้ ขยายโอกาสธุรกิจ ปี 2565” โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ประจำปี 2565 โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการเป็นรายธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ การตรวจประเมินมาตรฐาน พร้อมทั้งเสริมในเรื่องของการศึกษาดูงานธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบที่ดี

 

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ต้องจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบนิติบุคคล และประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีแฟรนไชส์ซีไม่น้อยกว่า 3 สาขา และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้งโครงการ และเมื่อได้ผู้ประกอบการตาม คุณสมบัตินี้แล้วเหล่านี้แฟรนไชส์ไม่ว่าจะขายอะไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะให้เขาถ่ายทอดหรือขยายธุรกิจไปยังมือของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นหลายๆ รายย่อยที่ต้องการสร้างอาชีพในภาวะโควิด-19 และช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการโซเชียล ดิสแทนซิ่ง (social distancing) ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่ถูก Disrupt จากผู้เล่นรายใหม่ ที่เข้ามาด้วย Business model ใหม่ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน ดังนั้น ช่วงการ Disruption นี้มีคนตกงานและต้องการอาชีพกับรายได้ นโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้จึงให้ความสำคัญ และ นายจุรินทร์ต้องการถ้านโยบายเกิดรูปธรรมเร็วที่สุดในการสร้างงานสร้างรายได้ทั่วประเทศและอาชีพที่พิสูจน์แล้วว่าทำแล้วมีความสำเร็จมีรายได้เข้าจึงเป็นผู้มีความเสี่ยงที่น้อยที่สุดและติดตามวัดผลว่าให้เกิดการจ้างลูกจ้างจ้างงานในแต่ละผู้ประกอบการนั้นๆ

 

นางมัลลิกากล่าวว่า ตลาดธุรกิจแฟรนไซส์ในประเทศไทยมีการขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะแฟรนไชส์เป็นระบบธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ผู้ที่กำลังมองหาและอยากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่สนใจเลือกแฟรนไชส์เป็นธุรกิจเริ่มต้น โดยระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แม้ว่าผู้ลงทุนจะไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจมาก่อน แต่ผู้ขายแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซอร์ จะเป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี และเป็นที่ปรึกษาให้ตลอดการทำธุรกิจ ดังนั้น จึงทำให้แนวโน้มของตลาดแฟรนไชส์ไทยยังคงมีอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

“ธุรกิจแฟรนไชส์จะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ต้องดูว่าธุรกิจนั้นมีมาตรฐานมามากน้อยเพียงใด เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐาน จะเป็นรากฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อไป ดังนั้น มาตรฐานแฟรนไชส์ที่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญ คือ ระบบการปฏิบัติงาน คุณภาพของสินค้า และมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟรนไชส์ซอร์ และแฟรนไชส์ซี ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ คือ เกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ ที่เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตได้หรือไม่” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

 

รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์เข้าสู่มาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ.2565 มีธุรกิจแฟรนไชส์เข้ารับการประเมินและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินแล้วทั้งสิ้น 477 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ 1.ธุรกิจอาหาร จำนวน 205 ราย 2.ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 93 ราย 3.ธุรกิจการศึกษา จำนวน 65 ราย 4.ธุรกิจบริการ จำนวน 58 ราย 5.ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 24 ราย และ 6.ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 32 ราย เป้าหมายของภารกิจคือภายในปี 2565 ต้องทำให้ได้ตามเป้าหรือทะลุเป้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ไว้

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง