โควิดไม่กระทบสินค้าเกษตร ไทยส่งออก10 เดือนกว่า1.2 หมื่นล้านดอลล์ ตลาดกัมพูชาพีคสุดโต 242%
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ช่วง 10 เดือนแรกปี2563 ไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) รวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่า มีมูลค่ากว่า 12,289 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 70.5% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปโลก ขยายตัว 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดคู่เอฟทีเอที่มีการส่งออกขยายตัว เช่น กัมพูชา ขยายตัว 242% สิงคโปร์ ขยายตัว 23% จีน ขยายตัว 8% ฮ่องกง ขยายตัว 22% ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขยายตัว 11%
โดยสินค้าเกษตรที่การส่งออกขยายตัว อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 3,618 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 763 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20% ปศุสัตว์อื่นๆ ส่งออก 704 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 107% ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ส่งออก 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15% สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ส่งออก 91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 493% เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทยที่มีผลใช้บังคับแล้ว ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่ค้ายกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว เอฟทีเอจึงมีส่วนสำคัญที่สร้างแต้มต่อและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก ทำให้สินค้าส่งออกไทยมีโอกาสในตลาดคู่เอฟทีเอมากขึ้น และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปี 2562 กับปี 2535 ก่อนที่ไทยจะมีความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียน พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปตลาดโลกเติบโตขึ้นถึง 224% สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเอฟทีเอที่มีมูลค่าสูงหลายรายการ อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดและแปรรูป ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น
นางอรมน กล่วว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความพร้อมในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มฟื้นตัว การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ และมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง โดยเดือนตุลาคม 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอสำคัญ ขยายตัวเพิ่มจากเดือนกันยายน 2563
โดยอินโดนีเซีย ขยายตัว 42% อินเดีย ขยายตัว 20% ออสเตรเลีย ขยายตัว 20% ญี่ปุ่น ขยายตัว 10% มาเลเซีย ขยายตัว 8% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 6% สะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวและปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น สินค้าที่เก็บรักษาได้นาน ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่ปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทย ได้ลดและยกเว้นภาษีนำเข้าให้เต็มที่