รีเซต

สรท. คาดไตรมาสแรกส่งออกโต 5% จับตาปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงานพุ่ง-ขาดแคลนแรงงาน

สรท. คาดไตรมาสแรกส่งออกโต 5% จับตาปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงานพุ่ง-ขาดแคลนแรงงาน
ข่าวสด
8 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:11 )
64
สรท. คาดไตรมาสแรกส่งออกโต 5% จับตาปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงานพุ่ง-ขาดแคลนแรงงาน

สรท.คาดส่งออกโต 5% - นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. คาดการณ์ส่งออกไทยในไตรมาสแรกปี 2565 โตต่อเนื่อง 5% และคงคาดการณ์ส่งออกไทยทั้งปี 2565 เติบโตระหว่าง 5-8% (ณ เดือนก.พ. 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ขณะที่สหภาพยุโรป อาจขาดแคลนพลังงานเนื่องจากยุโรปนำเข้าแก๊สจากรัสเซีย 25-50% ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก

 

2. แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว 3. ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูง

 

4. ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

 

5. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “โอมิครอน” หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามและเข็มที่สี่ต่อเนื่อง และเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ (เฉพาะผู้ที่เดินทางในประเทศและมาจากออสเตรเลีย) ขณะที่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ

 

สำหรับข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คือ 1. ด้านการตลาด (Marketing) เช่น จัดกิจกรรมเยือนซาอุดีอาระเบีย และประเทศเป้าหมายสำคัญ เร่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศคู่เจรจาให้มากขึ้น

 

2. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) มีแนวทางที่สำคัญประกอบด้วย เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวก และช่วยลดต้นทุน อาทิ ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

 

3. ด้านการควบคุมต้นทุนการผลิต (Production cost) ขอให้ภาครัฐตรึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เนื่องจากต้นทุนพลังงานคิดเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิต ราว 2-10%

 

หากราคาพลังงานมีการปรับตัวสูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยตรง ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อื่น อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

 

ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000 บาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำกำหนดไว้

 

ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากเกินไปอาจกระทบกับธุรกิจในระดับ SME ที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ ภาครัฐควรต้องส่งเสริม ยกระดับ upskill–reskill ให้กับแรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมโดยเร็ว เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง