ผวาโควิดเดลต้าพุ่งระบาดหนักในไทย ดันเงินบาทอ่อนวิ่งทะลุ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 13 ปีกว่า คาดแนวโน้มทะลุ 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังโควิดสายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาดหนักในไทย หวั่นนักลงทุนต่างชาติเพ่นหนี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.02 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการทำสถิติใหม่ในรอบ 13 ปีกว่านับจาก 15 พ.ค. 63
สำหรับประเด็นสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาทคือความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทย โดยสถานการณ์การระบาดทั่วโลก จะกดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจะทำให้ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้นหนุนให้เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้
ขณะที่สถานการณ์การระบาดในไทยยังวิกฤติอยู่ จากยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่อยู่ในระดับสูงและยังไม่มีทีท่าจะลดลง ขณะเดียวกันการแจกจ่ายวัคซีนก็ดูจะล่าช้าและแผนการแจกจ่ายวัคซีนอาจไม่สามารถรับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
นอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของ COVID-19 โฟลว์ธุรกรรมในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า ที่อาจเริ่มกังวลต่อแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ก็อาจทำให้ ผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ หนุนให้เงินบาทโดยรวมยังทรงตัวในระดับสูงอยู่
โดยมองแนวโน้มอาจจะอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อาจใช้จังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง ในการทยอยลดการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (FX Reserves) ลงบ้าง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯมองว่า ไทยมีการแทรกแซงค่าเงินในทิศทางเดียว หรือ เพื่อให้ FX reserves มีการลดลงบ้าง ซึ่งอาจช่วยคุมไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไปจนผู้นำเข้าปรับกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงไม่ทัน
ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.05-32.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่นำโดย สหัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 127.3 ในเดือนมิถุนายน มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta ยังทวีความรุนแรงในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ รวมถึง กลุ่มอาเซียน อนึ่ง ผลการวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า วัคซีน mRNA สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 ได้ดีเกือบทุกสายพันธุ์ แม้ว่าปริมาณอาจลดลงไปบ้างในสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็ตาม ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง Delta ในสหรัฐฯ ซึ่งอาศัยการแจกจ่ายวัคซีน mRNA กว่า 70% ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดูสดใสอยู่
การเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปิดตลาดในแดนบวก นำโดย หุ้นในกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่ม Semiconductor ที่ได้ช่วยหนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดบวก +0.19% ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.03% ส่วนในฝั่งยุโรป การเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด แม้จะมีความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 อยู่บ้าง ก็ได้หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +0.43% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Infineon Tech. +3.52% ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงของเงินยูโร ก็ได้หนุนหุ้นสินค้าแบรนด์เนม รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรม ปรับตัวขึ้น Adidas +2.63%, Louis Vuitton +0.96%, Volkswagen +0.90%
สำหรับความไม่แน่นอนของปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเป็นหนึ่งใน FOMC Voting member ก็ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.48% ซึ่งประเมินว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways จนกว่าเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนถึงการทยอยปรับลดคิวอีลง ซึ่งอาจเป็นช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานประชุมสัมมนาวิชาการที่ Jackson Hole หรือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 มีทิศทางชัดเจนมากขึ้น ว่าจะเลวร้ายลง (กดดันยีลด์ปรับตัวลง) หรือ ดีขึ้นต่อเนื่อง (อาจหนุนยีลด์ปรับตัวขึ้นได้)
ในฝั่งตลาดค่าเงินนั้นสกุลเงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ อาจชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สวนทางกับภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กอปรกับผู้เล่นในตลาดก็เริ่มสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะ เงินดอลลาร์ เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้
โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.05 จุด กดดันให้ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) อ่อนค่าลงกว่า 0.7% แตะระดับ 0.751 ดอลลาร์ต่อAUD ส่วน เงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงราว 0.2% สู่ระดับ 1.19 ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ ย่อตัวลงเกือบ 1% สู่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ตลาดจะจับตาการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดการจ้างงานภาคเอกชน สำรวจ โดย ADP ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ได้ โดยตลาดคาดการณ์ว่ายอดการจ้างงานภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นราว 6 แสนตำแหน่ง นเดือนมิถุนายน สะท้อนว่า Nonfarm Payrolls ในวันศุกร์นี้ ก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนตำแหน่ง
นอกจากนี้ตลาดจะติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic ซึ่งเป็นหนึ่งใน Voting member ของ FOMC
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ (Mfg. & Services PMIs) ยังอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด และ 55.3 จุด ตามลำดับ (ดัชนี > 0 หมายถึงภาวะขยายตัว)