รีเซต

"อีโบลา" ระบาด! สธ.ยกระดับเข้ม คัดกรองผู้เดินทางจากแอฟริกา

"อีโบลา" ระบาด! สธ.ยกระดับเข้ม คัดกรองผู้เดินทางจากแอฟริกา
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2565 ( 13:31 )
61

กรมควบคุมโรค ยกระดับมาตรการป้องกันเข้มโรค "อีโบลา" เนื่องจากเป็นโรคติดต่ออันตราย สั่งคัดกรองสุขภาพและลงทะเบียนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแอฟริกาทุกราย โดยเฉพาะประเทศยูกันดา ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเข้าไทย แม้องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ


วันนี้ (25 ต.ค.65) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส "อีโบลา" ในประเทศทวีปแอฟริกาที่ เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศยูกันดา และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ล่าสุด ณ วันที่ 24 ต.ค.65 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 

ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัส "อีโบลา" สายพันธุ์ซูดาน มีความรุนแรงเป็นอันดับสอง โดยมีอัตราการป่วย และเสียชีวิต เฉลี่ยร้อยละ 53 รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ ซึ่งมีอัตราป่วยและเสียชีวิต เฉลี่ยร้อยละ 68

จากการตรวจสอบข่าวพบว่าองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดของไวรัส "อีโบลา" ในครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ แต่ยังต้องจับตาใกล้ชิด ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากก็ตาม

รู้จักเชื้อไวรัสอีโบา ที่ทำให้เกิดโรคในคนมีกี่ชนิด

"ไวรัสอีโบลา" จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Filoviridae นักวิทยาศาสตร์แบ่งไวรัสนี้เป็น 5 ชนิด โดยมี 4 ชนิด ที่มีรายงานว่าทำให้เกิดโรคในคน ดังนี้

1. Ebola-Zaire virus

2. Ebola-Sudan virus

3. Ebola-Ivory Coast virus

4. Ebola-Bundibugyo

ติดเชื้อไวรัส "อีโบลา" มีอาการอย่างไร?

หลังจากได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว ประมาณ 2-21 วัน โดยในระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

1. ไข้ หนาวสั่น

2. ปวดศีรษะอย่างมาก

3. ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ

4. เจ็บคอ

5. อ่อนเพลีย

6. ท้องร่วง

สำหรับเชื้อไวรัส "อีโบลา" จะอยู่อยู่ในสัตว์ คนได้รับเชื้อนี้จากสัตว์ที่มีเชื้อโรค การติดต่อจากคนสู่คนโดยการได้รับสารหลั่งขณะนี้ยังไม่มียาสำหรับรักษาโรคนี้.

เปิดมาตรการคุมเข้ม สกัดอีโบลาเข้าไทย

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 

โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

มาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้แก่

1. ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกราย โดยการตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ พร้อมให้แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากประเทศคองโก

2. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง

3. ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมกับมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร

4. กองโรคติดต่อทั่วไป จะประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลการคัดกรอง ผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกสัปดาห์ และทำการประเมินสถานการณ์โรค

5. ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค


ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง