รีเซต

ปีหน้า ได้ใช้ “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 “ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ประเทศไทย

ปีหน้า ได้ใช้ “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 “ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ประเทศไทย
มติชน
11 พฤษภาคม 2565 ( 10:48 )
113
ปีหน้า ได้ใช้ “สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 “ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยเป็นการก่อสร้างในสัญญาที่ 4 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับพื้นที่ปริมณฑลทางด้านตะวันตก ช่วยลดเวลาในการเดินทางให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับสะพานคู่ขนานแห่งใหม่นี้ ทางกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาให้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งขณะนี้ กทพ. อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอพระราชทานชื่อสะพาน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ กทพ. และเป็นความภูมิใจร่วมกันของประชาชนชาวไทยทุกคน

 

ซึ่งสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 แห่งใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 4 เป็นการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง มีระยะเวลาการก่อสร้าง 39 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในปี2566 รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร

 

โดยทางกทพ. ได้ออกแบบสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โดยคำนึงถึงปัญหาด้านการจราจรติดขัดสะสมในช่วงขึ้นสะพาน จึงได้ออกแบบให้สะพานมีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 เดิมที่เริ่มยกระดับจากพื้นดินขึ้นไป หากแต่สะพานแห่งนี้จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้ผู้ใช้ทางสามารถวิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการชะลอตัวสะสมในช่วงขาขึ้นสะพานดังกล่าว

 

ตัวสะพานมีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนุบรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ ที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย มีความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวของสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร และสิ้นสุดโครงการฯ ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่

 

และจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด ดังนั้น สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้กทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการขอพระราชทานชื่อสะพานดังกล่าว เพื่อเทิดพระเกียรติพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเมื่อสะพานแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็น LAND MARK สำคัญของกรุงเทพมหานคร รวมถึงช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจร ช่วยระบายการจราจรที่ติดขัดสะสม ช่วยลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เดิม เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังจะช่วยทดแทนกรณีที่สะพานพระราม 9 เดิม ที่เปิดใช้งานมามากว่า 35 ปี ต้องปิดเพื่อซ่อมแซมและนอกเหนือไปจากนั้นสะพานแห่งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของ กทพ. และพสกนิกรชาวไทยทุกคน ทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ ที่สืบสาน รักษา ต่อยอด อย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติตลอดไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง