รีเซต

แพทย์แนะทางรอดโควิด ใช้ยาเคมี-สมุนไพร ให้พอดี สกัดดื้อยา เตือนอย่ากินป้องกัน

แพทย์แนะทางรอดโควิด ใช้ยาเคมี-สมุนไพร ให้พอดี สกัดดื้อยา เตือนอย่ากินป้องกัน
มติชน
6 พฤษภาคม 2565 ( 15:58 )
81
แพทย์แนะทางรอดโควิด ใช้ยาเคมี-สมุนไพร ให้พอดี สกัดดื้อยา เตือนอย่ากินป้องกัน
แพทย์แนะทางรอดโควิด ใช้ยาเคมี-สมุนไพร ให้พอดี สกัดดื้อยา เตือนอย่ากินป้องกัน

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2565) ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในรายการโควิด ฟอรัม (Covid Forum) ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “ยา-สมุนไพรไทย ใช้ให้ถูกหลักสกัดโควิด-19” ว่า

 

สำหรับยาที่จะใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องดูระดับภูมิคุ้มกันต่อโรค เช่น การฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 3 เข็ม หรือเข็มสุดท้ายไม่เกิน 3 เดือน ประกอบกับ ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 608 คือ สูงอายุมากกว่า 60 ปี หรือป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดอาการรุนแรง อาการจะมีเพียงเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ ไอแห้ง ฯลฯ สามารถใช้การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) อาการก็จะหายได้เอง ซึ่งข้อมูลทางระบาดวิทยายืนยันว่า กว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีความเสี่ยงก็สามารถรับยาต้านไวรัสได้ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์

 

“การใช้ยาของประเทศไทยเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แม้ยาฟาวิพิราเวียร์ยังขาดการศึกษาเมื่อเทียบกับยาโมลนูพิราเวียร์ กับยาแพ็กซ์โลวิด แต่ด้วยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาเก่าที่มีประสบการณ์ใช้มานาน ทั้งนี้ หลักการสำคัญของยาต้านไวรัสคือ ต้องให้เร็ว ดังนั้น หากผู้ป่วยรู้ตัวเองเร็ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ แต่อาการจะเริ่มจากสีเขียวก่อน จึงต้องตัดสินใจก่อนเป็นสีเหลือง สีแดง” ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าว

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร กล่าวว่า สำหรับยาต้านไวรัสชนิดอื่น คือ ยาโมลนูพิราเวียร์ กับ ยาแพ็กซ์โลวิด มีการศึกษาชัดเจนว่า ลดความรุนแรงของโรคได้กว่าร้อยละ 70-80 ลดอัตรานอนเตียงไอซียูและเสียชีวิตได้สูงชัดเจน โดยข้อบ่งชี้การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ยังไม่มีข้อมูลใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ซึ่งแนะนำให้ไปใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ก่อน อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน มีผลต่อภาวะดื้อยาและยังไม่มีการศึกษาแนวทางใช้ที่ชัดเจนในการใช้ เราจึงไม่นิยมใช้ ทั้งนี้ ข้อดีของยาต้านไวรัสคือ ยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ที่โควิด-19 เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต่างจากยาที่เป็นแอนติบอดี้เฉพาะไวรัส

 

ด้าน ภก.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สมุนไพรไทยเป็นภูมิปัญญาที่มีมานาน โดยยาแผนปัจจุบันทุกชนิดก็ได้จากสมุนไพรนำมาสังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งการใช้สมุนไพรรักษาโควิด-19 เป็นการแพทย์ทางเลือก เหมาะกับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว เช่น ยาฟ้าทะลายโจร เป็นหนึ่งในบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ปี 2542 เพื่อรักษาอาการเจ็บคอ ไข้หวัด ประกอบกันมีผลวิจัยเพื่อใช้รักษาโควิด-19 ทั้งในไทยและจีน อย่างไรก็ตาม การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ต้องใช้ขนาดมากกว่าไข้หวัดทั่วไป คือ สารเอนโดรกราโฟไลด์มากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อวัน เช่น รับประทานวันละ 4 เม็ด 3 เวลา ต่อเนื่องไม่เกิน 5 วัน

 

 

“ยาฟ้าทะลายโจรไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเดือน เพราะแม้จะเป็นสมุนไพร แต่มีพิษต่อตับและไต เช่นกัน ดังนั้น เราไม่ควรใช้เกินขนาด และหากยังไม่ป่วยก็ไม่ควรรับประทาน ยกเว้นอยากป้องกัน ก็ให้รับประทานก่อนและหลังไปเข้ากิจกรรมเสี่ยง” ภก.ณัฐพศุตม์ กล่าวและว่า ข้อแนะนำใช้ยาแผนปัจจุบันกับสมุนไพร ไม่ควรใช้ร่วมกัน ต้องเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของโรค และเพื่อผลการรักษาที่ชัดเจน

 

ภก.ณัฐพศุตม์ กล่าวว่า สำหรับสมุนไพรนอกเหนือจากฟ้าทะลายโจรที่ช่วยภูมิต้านทานร่างกาย คือ กระชายขาว ช่วยลดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ถึงร้อยละ 99.5 ขิง ผลทดลองในประเทศจีน อินเดีย พบว่าช่วยป้องกันเชื้อเข้าสู่เซลล์ ลดการอักเสบและเพิ่มภูมิต้านทานได้ และ ขมิ้นชัน ที่น่าสนใจมาก เป็นเครื่องเทศที่เราใช้กันอยู่แล้ว มีการทดลองในต่างประเทศในรูปแบบตำรับยาเข้าสมุนไพร เช่น โกฐจุฬาลัมพา ทั้งนี้ การใช้สมุนไพรอื่นๆ เช่น หอมแดง จะเป็นลักษณะไอหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ใช่การรักษา อย่างไรก็ตาม การทำร่างกายให้แข็งแรงเสมอ ด้วยการออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง