ธุรกิจค้าอาวุธทั่วโลกเฟื่องฟู สวนทางเศรษฐกิจยุคโควิด-19 เอเชียก้าวขึ้นสู่วงการอาวุธมากขึ้น
◾◾◾
🔴ค้าอาวุธทั่วโลกคึกคัก
ท่ามกลางการล็อกดาวน์, ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และการบริโภคสินค้าที่ลดน้อยลงทั่วโลก อันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากโควิด-19 และทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศดิ่งเหว
แต่หนึ่งอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะมีภูมิต้านทานไวรัสที่สูงกว่าแวดวงอื่น ๆ นั่นคือ ‘อุตสาหกรรมอาวุธ’
หนึ่งสิ่งที่สามารถยืนยันได้ นั่นคือรายงานล่าสุดจากสถาบันวิจัยสันตินานาชาติสตอกโฮล์ม หรือ SIPRI เปิดเผยรายงานเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า บริษัทผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ 100 บริษัทของโลก มียอดขายเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ในช่วงปี 2020 ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงไปทั่วโลก จนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซา
อเล็กซานดรา มาร์กสเทนเนอร์ เปิดเผยกับสำนักข่าว DW ของเยอรมนี ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความตกตะลึงไม่น้อย เมื่อพบข้อมูลปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่เจอการระบาดของโควิด-19 "แม้ว่า IMF จะปรับคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว 3.1% แต่กลับพบว่า 100 บริษัทค้าอาวุธยักษ์ใหญ่ของโลก กลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยภาพรวมการค้าอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 1.3%"
ยอดจำหน่ายของ บริษัทอาวุธ 100 แห่งทั่วโลก รวมมูลค่ามากกว่า 5.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 17 ล้านล้านบาท ในปี 2020
โดยประมาณ 54% เป็นของ 41 บริษัทในสหรัฐฯ และพบว่า ‘Lockheed Martin’ เพียงบริษัทเดียว ก็กวาดรายได้ไปถึง 58,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ในปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่า GDP ของลิทัวเนียเสียอีก
◾◾◾
🔴การล็อบบี้ที่มีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าบริษัทที่ใหญ่ ย่อมมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าบริษัทเล็ก ซึ่งมาร์คัส เบเยอร์ นักวิทยาศาสตร์การเมือง แห่งศูนย์วิจัยความขัดแย้งนานาชาติบอนน์ หรือ BICC ระบุว่า บริษัทอาวุธต้องมีการใช้ ‘อิทธิพล’ ในการประกอบการ
องค์กร NGO ของสหรัฐฯ เคยเปิดเผยความลับว่า "เหล่าบริษัทอาวุธใช้งบประมาณ หลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุก ๆ ปี เพื่อล็อบบี้เหล่านักการเมือง และบริจาคให้กับการหาเสียงของพวกเขา โดยพบว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่ามีการจ่ายเงินเพื่อล็อบบี้สูงรวม ๆ แล้วสูงเกือบ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 8.96 หมื่นล้านบาท"
◾◾◾
🔴ประเทศเอเชียเป็นผู้เล่นในวงการอาวุธมากขึ้น
ไซมอน วิซอตสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธแห่งสถาบันวิจัยสันติภาพแฟรงก์เฟิร์ต หรือ PRIF เปิดเผยว่า บริษัทอาวุธทั่วโลกตอนนี้กำลังเนื้อหอมอย่างมาก และพบว่าตอนนี้หลายประเทศในแถบเอเชียเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ที่มี 3 บริษัทติด 1 ใน 100 บริษัทชั้นนำ และมียอดขายรวมกันราว 1.2% ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศเกาหลีใต้
แต่อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงตามหลังยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธแห่งเอเชียอย่าง "ประเทศจีน" ซึ่ง SIPRI ระบุว่า แม้จะมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส แต่จากการตรวจสอบรายงานมาตั้งแต่ปี 2015 นั้น พบว่า 5 บริษัทชั้นนำของจีน อยู่ในลิสต์รายชื่อ 100 บริษัทชั้นนำด้านอาวุธของโลก และพบว่าปีที่แล้วมียอดขายมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 1.5% และมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 13% ของ 100 บริษัทชั้นนำ
◾◾◾
🔴รัสเซียตกเป็นผู้เล่นสำรอง
ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาวุธอย่างรัสเซียนั้น พบว่า 9 บริษัทของรัสเซียมียอดขายอาวุธน้อยลงกว่าปี 2019 ถึง 6.5% ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่อินเดียและจีน พัฒนาอาวุธของตัวเองมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาอาวุธรัสเซียมากเท่าเดิม
ยกตัวอย่างเช่น จีนได้สร้างเรือบรรทุกเครื่องบิน "เหลียวหนิง" ขึ้นมาใช้เอง ทำให้ไม่ต้องซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินจากรัสเซียอย่างที่เคยซื้อหาสมัยโซเวียตอีกต่อไป เช่นเดียวกับฝรั่งเศสเองก็มียอดจำหน่ายอาวุธปีที่แล้วน้อยลงกว่าปีก่อนหน้านั้นด้วยเช่นกัน
◾◾◾
🔴เทคโนโลยีการทหาร-เทคโนโลยีข่าวสาร แยกกันไม่ออก
ไซมอน วิซอตสกี ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีของพลเรือน และเทคโนโลยีของกองทัพ แทบจะแยกกันไม่ออกแล้ว
"หากเราเอ่ยถึงผู้ผลิตอาวุธแบบดั้งเดิมรายใหญ่ของโลก เราคงนึกถึง Lockheed Martin แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิคอน แวลเลีย์ เช่น Google, Microsoft และ Oracle ต่างเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจอาวุธ และกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของบริษัทอาวุธชั้นนำ" SIPRI รายงาน
เช่น บริษัท Microsoft ที่ได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7 แสนล้านบาท โดยทาง Microsoft ทำข้อตกลงในการจัดหาแว่นอัจฉริยะให้กับกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งแว่นดังกล่าวเรียกว่า ‘The Integrated Visual Augmentation System’ ซึ่งจะทำให้ทหารได้ข้อมูลกลยุทธ์แบบเรียลไทม์ ระหว่างอยู่ในสนามรบ