รีเซต

สธ.รับลูกนายกฯ จ่อชง ศบค. เปิดด่านชายแดนใต้ ใช้ Test and go

สธ.รับลูกนายกฯ จ่อชง ศบค. เปิดด่านชายแดนใต้ ใช้ Test and go
มติชน
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:36 )
52
สธ.รับลูกนายกฯ จ่อชง ศบค. เปิดด่านชายแดนใต้ ใช้ Test and go

วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2565) นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการรองรับหากมีการเปิดด่านชายแดนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นด่านทางบก ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 12 ณ ปัจจุบัน พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยวันละ 400-500 ราย พบมากที่สุดคือ สงขลา และพัทลุง ถือว่ายังมีโอภาสจะกลับมาพบเพิ่มมากขึ้น ตามแนวโน้มสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศ เพราะประเทศไทยมีการเปิดเมือง มีกิจกรรม เปิดโรงเรียน รวมถึงเชื้อโควสิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ติดเชื้อง่ายขึ้น ส่วนคลัสเตอร์ที่พบนั้น ยังอยู่ในกิจกรรมที่รวมตัวของคน เช่น งานพิธีกรรม วงชนไก่ เป็นต้น

 

นพ.สุเทพ กล่าวว่า สำหรับอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ต้องยอมรับว่า ภาพรวมทั้งเขตความครอบคลุมเข็มที่ 1 ยังอยู่ประมาณร้อยละ 70 เข็มที่ 2 ร้อยละ 60 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ที่ครอบคลุมเข็มที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 60 ขณะนี้ วัคซีนเด็ก 5-11 ปี ในทั้ง 7 จังหวัด มีประมาณ 5 แสนคน สมัครใจฉีดประมาณ 3 แสนคนเท่านั้น คิดเป็น ร้อยละ 60 ซึ่งจะทยอยฉีดต่อเนื่อง

 

“แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สมัครใจฉีดเพียงร้อยละ 10 ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้มากขึ้น เข็มที่ 3 ในเขตสุขภาพที่ 12 ยังน้อยอยู่ เพราะหลายคนมองว่า สถานการณ์เริ่มน้อย คนก็เริ่มรู้สึกว่า 2 เข็ม ก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อเริ่มติดเชื้อมากขึ้น ก็กลับมาเริ่มฉีดกระตุ้นมากขึ้นเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ” นพ.สุเทพ กล่าว

 

ทั้งนี้ นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในเขตสุขภาพที่ 12 ได้ทำระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) มาตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดหนักๆ เมื่อปี 2564 ดังนั้น มั่นใจว่าเรามีระบบรองรับผู้ติดเชื้อค่อนข้างดีอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงความพร้อมเปิดด่านบกชายแดนภาคใต้ นพ.สุเทพ กล่าวว่า หลักสำคัญคือ มาตรการส่วนบุคคล VUCA ต้องเข้มข้น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รับวัคซีนมากขึ้น ส่วนมาตรการรองรับการเปิดด่านบก ก็มีเตรียมการไว้เมื่อปลายปี 2564 ที่ขณะนั้นเปิดด่านบก จ.หนองคาย

 

“ครั้งนี้ ก็ต้องไปศึกษาแนวทางจาก จ.หนองคาย แล้วมาวางระบบของเรา เบื้องต้นจะเปิดด่านบกในจังหวัดใหญ่ๆ ก่อน โดยมีมาตรการคล้ายกับระบบเทสต์ แอนด์ โก (Test and go) คือ ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ก่อนเข้าเมือง เมื่อมาถึงก็ต้องตรวจอีกครั้ง และมีระบบติดตามให้ตรวจซ้ำอีกครั้ง หลังจากวันที่ 5-6 ของการเดินทางเข้ามา แต่ทั้งนี้ เราต้องหารือกับที่ประชุมอีโอซี สธ.เพื่อเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ขอความเห็นชอบก่อนจะดำเนินการเปิดด่านบกได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ประเทศมาเลเซีย ก็อยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ติดเชื้อใหม่ 2 หมื่นราย ฉะนั้น ความเสี่ยงของทั้ง 2 ประเทศ จึงไม่แตกต่างกัน” นพ.สุเทพ กล่าวและว่า การเปิดด่านมีความเป็นไปได้ แต่จะต้องทำให้สมดุล (บาลานซ์) ให้พอดี คงไม่ต้องล็อกดาวน์แล้ว แต่ต้องเน้นการป้องกัน ลดความเสี่ยงให้มากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง