รีเซต

ช็อก! โควิดคร่าหญิงท้องแล้ว 53 คน ลูกตายอีก 23 ตอบชัดแม่ติดเชื้อให้นมลูกได้หรือไม่

ช็อก! โควิดคร่าหญิงท้องแล้ว 53 คน ลูกตายอีก 23 ตอบชัดแม่ติดเชื้อให้นมลูกได้หรือไม่
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2564 ( 16:35 )
91

 

หญิงท้องติดโควิดกว่า 2 พัน ดับ 53 เสี่ยงอาการรุนแรง 3 เท่า ย้ำคลอดปกติได้ ไม่จำเป็นต้องผ่า หากไม่มีอาการให้นมลูกได้ ใส่หน้ากาก-ล้างมือ-เช็ดหัวนม-ลานเต้านม

 

 

วันที่ 19 ส.ค.64 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย แถลงข่าวสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มสตรีมีครรภ์ว่า มีผู้หญิงครั้งครรภ์ติดเชื้อสะสม 2,327 ราย เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 50-60 รายต่อวัน เสียชีวิต 53 ราย มีทารกติดเชื้อ 119 ราย เสียชีวิต 23 ราย จังหวัดที่มีการติดเชื้อค่อนข้างเยอะคือจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ขณะที่การฉีดวัคซีนยังค่อนข้างน้อย จนถึงวันนี้สตรีมีครรภ์ฉีดประมาณ 20,000 คน จากการตั้งครรภ์ทั้งปีละ 5 แสนราย ถือว่าฉีดยังไม่ถึง 10%

 

 

ส่วนการวิเคราะห์พบว่าสตรีมีครรภ์ที่เสียชีวิต 53 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ที่พบมากคือ แม่อายุเยอะเกิน 35 ปี มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ธาลัสซีเมีย อ้วน และใช้สารเสพติด โดยมีประวัติฉีดวัคซีน 22 ราย นอกนั้นยังไม่ได้ฉีดเลย ส่วนคนที่ฉีดแล้วเพิ่งจะฉีดได้ไม่กี่วันก็ติดเชื้อก่อน การติดเชื้อเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ครึ่งหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว อีกครึ่งหนึ่งติดเชื้อนอกบ้าน เช่น สถานที่ทำงาน ไปสถานที่คนแออัด

 

 

ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ติดเชื้อโควิดเทียบกับสตรีติดเชื้อที่ไม่ตั้งครรภ์ พบว่า มีโอกาสเข้าไอซียูสูงกว่า 2-3 เท่า ใช้เครื่องหายใจสูง กว่า 2.6- 2.9 เท่า โอกาสเสียชีวิตตัวเลขในประเทศไทย 1.5-8 คนใน 1,000 คน ถือว่าค่อนข้างสูง ปัจจัยที่ทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิตคือ อายุมากกว่า 35 ปี อ้วนอยู่แล้ว มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อลูก โดยทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ตายคลอด 2.8 เท่า ทารกมีโอกาสเข้าไอซียู 4.9 เท่า โอกาสที่ทารกติดเชื้อ 3.5% แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ

 

 

"สตรีมีครรภ์ไม่จำเป็นต้องตรวจโควิดทุกราย แต่แนะนำว่ารายไหนที่มีความเสี่ยงพบว่ามีคนในครอบครัวติดโควิดและตัวเองเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง ควรรีบไปตรวจโดยเร็วเพื่อหาเชื้อ ยิ่งมีอาการยิ่งต้องไปตรวจ เช่น ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก สามารถหา ATK มาตรวจก่อนได้เลย หากหาไม่ได้ควรไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน" นพ.เอกชัย กล่าว

 

 

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนอาการของหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไม่แตกต่างจากคนทั่วไป พบมากสุดคือ ไอ 50% ปวดศีรษะ 43% ปวดกล้ามเนื้อ 37% ไข้ 32% เจ็บคอ 28% หายใจหอบเหนื่อย 26% ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไม่ว่ากลุ่มอาการใดจะให้นอน รพ.ทั้งหมด แต่สถานการณ์ขณะนี้เตียงเต็ม จึงแนะนำกลุ่มอาการสีเขียวหรือไม่มีอาการอะไร สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) แต่หากอาการรุนแรงขึ้น เหนื่อยหอบ ต้องกลับมารักษาใน รพ. หรือ รพ.สนาม ส่วนการคลอดนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและคลอดแล้ว 1 พันกว่าราย พบว่าผ่าคลอดครึ่งหนึ่ง คลอดธรรมชาติครึ่งหนึ่ง การติดเชื้อโควิดไม่ใช่ข้อบ่งชี้ในการผ่าคลอด ไม่ต้องกังวล คลอดปกติได้ จะผ่าคลอดกรณีฉุกเฉินเหมือนคนทั่วไป การดมยาสลบสามารถให้การระงับความรู้สึกด้วยการบล็อกหลัง

 

 

"กรณีแม่ติดเชื้อหลังคลอด ถ้ากลุ่มสีเขียวไม่มีอาการสามารถกอดหรืออุ้มลูกได้ โดยยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ งดหอมแก้มลูก กรณีมีอาการไอจามต้องระวังและหลีกเลี่ยงกอดอุ้มลูก ทั้งนี้ ยังสามารถให้นมจากเต้าได้ แต่ต้องสวมหน้ากากตลอด ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสลูก หลีกเลี่ยงไอจามขณะลูกดูดนม เช็ดทำความสะอาดหัวนมและลานเต้านมด้วยน้ำอุ่น หากมีอาการเล็กน้อยหรือมากก็ไม่แนะนำ ใช้วิธีปั๊มนมใส่ถุงให้ญาติป้อน ส่วนแม่หลังคลอดที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องงดให้นมลูก เพราะยาขับออกมาทางน้ำนมได้" นพ.เอกชัย กล่าว

 

 

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ กรณีหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิด ซึ่งคำแนะนำจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ มีหลายสูตร คือ 1. เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2. สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม และ 3. สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม กรณีจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันเร็วที่สุดคือสูตรที่ 1 ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 เพราะใช้เวลาห่างระหว่างเข็มแค่ 3 สัปดาห์และเกิดภูมิหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นสูตรที่ 2 ระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ส่วนไฟเซอร์เพิ่งเข้ามาไม่เยอะ อาจยังไม่เพียงพอต่อกับจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีกว่า 5 แสนคน อีกทั้งยังต้องฉีดกลุ่มเสี่ยง 608 ด้วย

 

 

สำหรับผลข้างเคียงวัคซีนไม่แตกต่างจากคนทั่วไป จึงไม่ต้องกังวล อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยได้ไม่แตกต่าง คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ เพราะไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกหลายวัคซีนก็ฉีดได้ แต่ในประเทศไทยเพื่อลดข้อกังวล เพราะมีอัตราการแท้งตามธรรมชาติ 10-12% จึงให้เลี่ยงการฉีดวัคซีนในไตรมาสแรก เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจว่าแท้งมาจากวัคซีนหรือไม่ ส่วนสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ให้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มก่อน จะได้ปลอดัย และไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีน เพราะไม่มีอันตรายและไม่มีหลักฐานว่าทำให้มีลูกยาก ทั้งนี้ขอให้หญิงตั้งครรภ์เน้นการทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง