รีเซต

ผลผลิตข้าวปีนี้มีแค่ 28 ล้านตัน แต่ความต้องการ 32 ล้านตัน - สศก.ยันมีพอการล็อกดาวน์

ผลผลิตข้าวปีนี้มีแค่ 28 ล้านตัน แต่ความต้องการ 32 ล้านตัน - สศก.ยันมีพอการล็อกดาวน์
ข่าวสด
25 มีนาคม 2563 ( 15:26 )
45
ผลผลิตข้าวปีนี้มีแค่ 28 ล้านตัน แต่ความต้องการ 32 ล้านตัน - สศก.ยันมีพอการล็อกดาวน์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การตื่นกลัวการขาดแคลนอาหาร และการกักตุนอาหาร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาดออนไลน์ ให้มากขึ้น ประสานสหกรณ์จังหวัด อำเภอ เป็นศูนย์กระจายสินค้า และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร (Labor migration) จากการปิดสถานประกอบการต่างๆ โดยกรมชลประทานเป็นหลักในการดำเนินการจ้างงาน

ทั้งนี้ สศก. จะเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิดทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน โดยมีการประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเห็นตรงกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ขาดแคลน สามารถเร่งการผลิตได้เต็มที่ เพราะปัจจุบันเดินเครื่องการผลิตเพียง 60%

“จากการคาดการณ์ผลผลิต ยืนยันไม่ขาดแคลนสินค้าเพื่อการบริโภคภายในประเทศ กรณีมีการ lock down 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 ได้แก่ ข้าว สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะพร้าว และอ้อยโรงงาน ทั้งนี้ จากการระบาดของโรคโควิด-19 เชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในปี 2563 มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน”

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ข้าว ปี 2562/63 คาดว่ามีผลผลิตข้าวรวม 28.375 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ความต้องการใช้ข้าวคาดการณ์ ปี 2562/63 จำนวน 32.48 ล้านตัน แบ่งเป็น การบริโภคภายในประเทศ 13.320 ล้านตันข้าวเปลือก ส่งออกต่างประเทศ 15.38 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้ทำเมล็ดพันธุ์ 1.37 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้ในอุตสาหกรรม 2.4 ล้านตันข้าวเปลือก ไทยมีปริมาณผลผลิตข้าวที่เหลือสต็อกในปีที่ผ่านมาบางส่วน จึงเพียงพอเพื่อบริโภค รวมทั้งอาจจะส่งผลดีต่อการส่งออก เนื่องจากทั่วโลกมีความกังวล และตื่นตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว มีการกักตุนสินค้าและอาหารมากขึ้น มีการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้สำหรับความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ จึงอาจจะส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น

สินค้าประมง คาดการณ์ผลผลิตสินค้าประมงในปี 2563 จำนวน 2.7 ล้านตัน ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าประมงที่สำคัญ เช่น กุ้ง ปลานิล ซึ่งมีแหล่งการเพาะเลี้ยงกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและสามารถกระจายผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี จึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนสินค้าประมงสำหรับบริโภคในประเทศ รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบกับการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค เนื่องจากมีตลาดสินค้าประมงกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ และรอบๆ กรุงเทพฯ เช่น ตลาดทะเลไทย ตลาดปลาบางเลน ตลาดปลาฉะเชิงเทรา และมีที่ส่งตรงให้กับห้างโมเดิร์นเทรด เช่น แม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น

โดยสินค้ากุ้ง ในปี 2563 คาดว่าการผลิตกุ้งทะเลไทยจะมีปริมาณ 3.25 แสนตัน ส่งออก 82.76% และบริโภคภายในประเทศ 17.24% ผลผลิตมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ สำหรับการส่งออก อาจกระทบในตลาดจีนลดลงในระยะสั้น โดยไทยมีตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ส่วนผลผลิตปลานิล ผลผลิตมีเพียงพอต่อการบริโภค ปี 2563 คาดว่าการผลิตปลานิลของไทยจะมีปริมาณ 1.98 แสนตัน บริโภคภายในประเทศ 97.69% ส่งออกไปยังต่างประเทศเพียง 2.31%

สินค้าปศุสัตว์ ปี 2563 กรมปศุสัตว์คาดว่า การผลิตเนื้อไก่ของไทยจะมีปริมาณ 2.88 ล้านตัน โดยการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 62.91% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สำหรับสินค้าไก่เนื้อ ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ของตลาดในประเทศมีแนวโน้มลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศลดลง ปริมาณการผลิตสินค้าไก่เนื้อสามารถรองรับความต้องการบริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ประกอบการสามารถวางแผนและเพิ่มกำลังการผลิตให้ออกสู่ตลาดได้หากมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น หากเกิดกรณีปิดประเทศ จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศที่ยังคงมีสินค้าไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคอย่างเพียงพอ

สินค้าไข่ไก่ คาดว่าการผลิตไข่ไก่ของไทยจะมีปริมาณ 15,147.50 ล้านฟอง โดยการผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับเพื่อบริโภคในประเทศ 98.31% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ผลกระทบจาก โควิด-19 เนื่องจากตลาดหลักของสินค้าไข่ไก่ คือตลาดภายในประเทศ หากเกิดกรณีปิดประเทศ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค สินค้าสุกร คาดว่าการผลิตสุกรของไทยจะมีปริมาณ 1.68 ล้านตัน โดยการผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับเพื่อบริโภคในประเทศ 92.86% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สินค้าสุกรส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ในขณะที่การส่งออกยังคงส่งออกได้ตามปกติ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการสุกรมีชีวิตจากการระบาดของโรค ASF ในต่างประเทศ ทำให้ยังคงมีความต้องการสุกรมีชีวิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ด้านการส่งออกได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ปาล์มน้ำมัน การผลิต ปี 2563 มีผลผลิตปาล์มน้ำมันรวม 17.80 ล้านตัน ความต้องการใช้ โดยน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็น 90% ส่งออกเพียง 10% ซึ่งความต้องการใช้ภายในประเทศรวม 3.33 ล้านต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่น้ำมันปาล์มมีไม่เพียงพอ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการเพื่อรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มภายในประเทศ และไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคโดยใช้มาตรการปรับลดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน

มันสำปะหลัง ปี 2563 คาดว่ามีผลผลิตมันสำปะหลัง 29.493 ล้านตันหัวมันสด ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5.11% โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค. 2563) คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 19.023 ล้านตันหัวมันสด หรือ 64.50% ของผลผลิตทั้งหมด ลดลงจาก 20.107 ล้านตัน หรือ 64.7% ของผลผลิตทั้งหมด โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ 3 เดือนแรก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.93 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.17 บาท ลดลง 11.06% ซึ่งราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 (ม.ค.-มี.ค. 2563) ยังค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพของหัวมันสด (เชื้อแป้ง) ลดลง ทั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 อาจจะส่งผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกมันเส้น ที่นำไปผลิตเป็นแอลกฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง