รีเซต

ฝีดาษลิง ทำไมยังไม่ถูกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ศูนย์จีโนมฯมีคำตอบ?

ฝีดาษลิง ทำไมยังไม่ถูกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ศูนย์จีโนมฯมีคำตอบ?
TNN ช่อง16
30 มิถุนายน 2565 ( 14:54 )
104
ฝีดาษลิง ทำไมยังไม่ถูกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ศูนย์จีโนมฯมีคำตอบ?

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง 

โดยระบุว่า "คณะกรรมการฉุกเฉินโรคฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตัดสินใจเมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 จะรีบเร่งประชุมบรรดาผู้เชี่ยวชาญ 'โดยเร็วที่สุด' เพื่อปรับแผนการรับมือการระบาดของโรคฝีดาษลิงเนื่องจาก 'สถานการณ์การติดเชื้อฝีดาษลิงเริ่มมีการย้ายการติดเชื้อจากกลุ่ม “LGBTQ+” ไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกลุ่มอื่นคือ เด็ก, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, และสตรีมีครรภ์”

WHO กล่าวเมื่อวันพุธว่ากำลังสอบสวนรายงานเด็กที่ติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยเด็ก 2 รายในสหราชอาณาจักร ตลอดจนติดตามรายงานในสเปนและฝรั่งเศส ล่าสุดไม่มีกรณีใดในเด็กที่มีการติดเชื้อฝีดาษลิงที่ร้ายแรง (ปรับปรุง 30/6/2565 13:10)

องค์การอนามัยโลก เพิ่งออกแถลงการณ์การระบาดของ"ไวรัสฝีดาษลิง เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา "ว่าโรคฝีดาษลิงเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ 

สาเหตุเพราะ

-ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

 พบ“ไวรัสฝีดาษลิง” ที่ระบาดไปทั่วโลกในขณะนี้ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 3,500 คน ในกว่า 50 ประเทศ บ่งชี้ว่ามีต้นตระกูลไวรัสมาจากถิ่นเดียวกันหรือจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกันเมื่อต้นปี 2565 ไม่ได้เป็นการระบาดมาจากหลายพื้นที่พร้อมกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการควบคุมจะกระทำได้ไม่ยาก พร้อมเน้นย้ำว่า WHO มีทั้งวัคซีนและยาพอเพียงสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ไวรัสฝีดาษลิงที่เริ่มมีการระบาดใหญ่ในยุโรปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาระหว่างคนสู่คน จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม(จำนวน 300,000 เบส) มาเปรียบเทียบกันด้วยคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงพบว่ามีต้นตระกูลร่วมมาจากพื้นที่เดียวกันและน่าจะมาจากผู้ติดเชื้อรายเดียวกัน 

-สายพันธุ์และวัคซีน

ไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในขณะนี้ จากรหัสพันธุกรรมได้ถูกจัดอยู่ในสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า “hMPXV-1A” ในส่วนของ “สายพันธุ์ย่อย B.1” ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับกลุ่มไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ย่อย "A.1" ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2018-2019 โดยสายพันธุ์ย่อย A.1 มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับไวรัสฝีดาษลิง “hMPXV-1A” ที่ระบาดเป็นโรคประจำถิ่นของไนจีเรีย ในเขตแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตต่ำร้อยละ 1 อีกทั้งวัคซีนที่เรามีใช้ในปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกได้ดีแม้จะฉีดหลังจากได้รับสัมผัสเชื้อแล้วก็ตาม

-สายพันธุ์ย่อย "B.1" vs “A.1”

สายพันธุ์ย่อย "B.1" มีสายวิวัฒนาการที่แยกตัวออกจากสายพันธุ์ย่อย A.1 โดยมีการวิวัฒนาการในรูปแบบจำเพาะ คือ TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA อันเกิดจากเอนไซม์มนุษย์ที่สร้างจากยีน  “APOBEC3” ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไวรัสเข้ามารุกรานเซลล์โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะกระตุ้นให้จีโนมไวรัสมีกลายพันธุ์ในลักษณะจำเฉพาะ (TT เปลี่ยนเป็น TA หรือ GA เปลี่ยนเป็น AA) จนทำให้จีโนมเสียหายไม่อาจเพิ่มจำนวนไวรัสได้ ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงส่วนใหญ่ที่พยายามก้าวข้ามจากสัตว์มาติดยังมนุษย์ถูกทำลายลง กลุ่มที่เหลือมีการกลายพันธุ์หลบเลี่ยงการทำลายของโปรตีนดังกล่าว ทำให้ไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีการกลายพันธุในลักษณะเฉพาะตัว และอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึงกว่า 50 ตำแหน่งทิ้งไว้เสมือนแผลเป็นให้สังเกตเห็นได้โดยง่ายจากการถอดรหัสพันธุกรรม แตกต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมในปี 2017 

-สตรีและเด็ก

WHO กล่าวว่า ณ จุดนี้การระบาดยังจำกัดวงอยู่ในประเทศแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBTQ-Plus ของผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย แต่หลายประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีไวรัสฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น จะพบเห็นเด็กและสตรีติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตในชุมชนเหล่านั้น ทำให้ทั้งโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันให้การสนับสนุนในการดูแล ป้องกัน รักษา รวมทั้งงานวิจัยอย่างเข้มข้นแก่แอฟริกาจากนี้ไป เพราะเห็นได้จากไวรัสโคโรนา 2019 และไวรัสฝีดาษลิงมิได้เป็นปัญหาเฉพาะถิ่นแต่เป็นปัญหาของคนทั้งโลก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/CMGrama/posts/5098796780228061

https://www.nature.com/articles/s41591-022-01907-y"




ที่มา Center for Medical Genomics

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง