นักวิจัยสหราชอาณาจักรพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจากลายนิ้วมือ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย เชฟฟิลด์ ฮัลลัม (Sheffield Hallam) ในสหราชอาณาจักร ศึกษาวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ ด้วยการทดสอบจากลายนิ้วมือ ซึ่งอาจจะปูทางไปสู่การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการตรวจให้ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับวิธีที่ทีมวิจัยกำลังศึกษานี้ จะเป็นการวิเคราะห์โมเลกุลในเหงื่อจากลายนิ้วมือผ่านเทคนิคที่เรียกว่า แมส สเปกโตรเมทรี (mass spectrometry) ซึ่งเป็นเทคนิคในการวิเคราะห์ ที่ใช้ในการระบุและวัดมวลของโมเลกุลและอะตอม ร่วมกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่ได้
โดย ซิโมนา ฟรานเซส (Simona Francese) ศาสตราจารย์สาขานิติวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลัม ผู้นำในงานวิจัยนี้กล่าวว่า เธอเองทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์มาเกือบ 15 ปี โดยใช้ลายนิ้วมือเพื่อช่วยระบุประวัติผู้ต้องสงสัยในคดีต่าง ๆ แต่ในระหว่างทางทีมวิจัยของเธอก็พบว่าวิธีการเดียวกันนี้ อาจจะสามารถใช้ในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
ทีมวิจัยจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม และมุ่งเป้าการศึกษาไปที่โปรตีนในเหงื่อบนลายนิ้วมือ เนื่องจากระดับที่แตกต่างกันของโปรตีน รวมถึงปัจจัยของการแสดงออกของโปรตีน อาจจะช่วยบอกให้รู้ได้ว่าผู้ป่วย มีพยาธิสภาพที่ไม่ร้ายแรง เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น หรือเป็นมะเร็งระยะลุกลามได้
ทั้งนี้มีข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าในปี 2021 มะเร็งเต้านมแซงหน้ามะเร็งปอดในฐานะโรคที่พบบ่อยที่สุด โดยคิดเป็นเกือบร้อยละ 12 ของผู้ป่วยรายใหม่ทุกปีทั่วโลก และวิธีการคัดกรองและตรวจจับแบบดั้งเดิม เช่น การตรวจแมมโมแกรม หรือการตัดชิ้นเนื้อ ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยหลายคนรู้สึกไม่กล้าไปตรวจคัดกรอง
ทีมวิจัยจึงหวังว่าในอนาคต ด้วยวิธีการนี้ เพียงผู้ป่วยป้ายนิ้วมือลงบนแผ่นทดสอบ ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ทางเลือกในการตรวจคัดกรองมะเร็ง ที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากมาย ลดเวลาตรวจลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสให้คนเข้ามาตรวจได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข้อมูล reutersconnect, reutersconnect