รีเซต

‘วิโรจน์’ ไม่ขัดเลื่อนพิจารณางบ 64 แนะรบ.จัดงบใหม่แก้โควิด- หยุดสร้างหนี้ผูกพันซื้ออาวุธเข้ากองทัพ

‘วิโรจน์’ ไม่ขัดเลื่อนพิจารณางบ 64 แนะรบ.จัดงบใหม่แก้โควิด- หยุดสร้างหนี้ผูกพันซื้ออาวุธเข้ากองทัพ
มติชน
4 เมษายน 2563 ( 17:21 )
196
1

พรรก้าวไกล -‘วิโรจน์’ ไม่ขัด เลื่อนพิจารณางบ 64 แนะรัฐบาลจัดสรรงบใหม่สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 หยุดให้กลาโหมสร้างหนี้ผูกพันธ์ทำสัญญาข้ามปีซื้ออาวุธเข้ากองทัพ

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำเรื่องเลื่อนการประชุมวาระแรก ในการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ว่า ปัจจุบันโจทย์และความจำเป็นของสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่รัฐบาลร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ถ้าการเลื่อนการพิจารณาออกไปโดยที่รัฐบาลจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และตอบโจทย์สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีปัญหา ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่หากรัฐบาลยังยึดงบประมาณ 2563 เป็นตัวตั้ง ปรับแต่งปรับลดงบต่างๆ จากเดิม ก็จะไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะให้ผ่านในวาระแรกได้

เมื่อถามว่า พรรค ก.ก. เตรียมเสนอแนะการทำร่างงบประมาณของรัฐบาลในส่วนใดบ้าง นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังสรุปข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างงบประมาณ 2564 ซึ่งวันนี้ทางพรรคได้ประชุมทางไกล และร่างเอกสารทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเปิดเผยคลิปวิดีโอข้อเสนอแนะของเราทางช่องทางออนไลน์ต่อไป เบื้องต้นเรายืนยันว่ารัฐบาลต้องทำงบประมาณแบบ  Zero-based budgeting หรือ การตั้งงบประมาณฐานศูนย์ คือนำงบประจำที่รัฐหลีกเลี่ยงการจ่ายไม่ได้ เช่น เงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ เงินบำเหน็จบำนาญ จากนั้นเริ่มต้นจัดสรรงบประมาณในส่วนใหม่ที่มีความจำเป็น โดยเราเสนอว่า งบประมาณที่สำคัญในช่วงนี้มี 3 ด้าน คือ 1.งบประมาณควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้การแพร่ระบาดเกินกว่าขีดความสามารถของการรักษาพยาบาล 2.งบประมาณเพื่อยกระดับศักยภาพด้านสาธารณสุข ทั้งการสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และ 3.งบประมาณในการพยุงและการเยียวยาทางเศรษฐกิจ หากรัฐบาลล็อกดาวน์ประเทศหนัก แต่ไม่มีมาตรการรองรับและดูแลประชาชน ก็จะเกิดปัญหาที่กระทบกับประชาชนตามมาอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่าง งบประมาณ 2564 อาจจะมีความแตกต่างจากงบปีก่อนหน้ามากใช่หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ใช่ คือต้องมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ที่ผ่านมาเรามีข้อติดใจในเรื่องงบกลางที่มีจำนวนมาก แต่สำหรับปี 2564 เราคิดว่า ควรจะปรับเพิ่มงบกลาง ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต อีกส่วนที่เรายังสนใจคือ การตั้งงบผูกพันธ์ซึ่งตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ได้กำหนดว่า การก่อหนี้ผูกพันจะต้องไม่เกินร้อยละ 10 แต่เมื่อย้อนกลับไปดูการก่อหนี้ผูกพันของกระทรวงกลาโหมเทียบกับงบประมาณที่ได้ โดยตั้งแต่ปี 2558 พบว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 14.5% ถึง 18.65% ในงบปี 2563 นั่นหมายความว่า การก่อหนี้ผูกพันของกระทรวงกลาโหมกินโควตาของกระทรวงอื่นไปด้วย เราคาดหวังว่า กระทรวงกลาโหมจะไม่ก่อหนี้ผูกพัน เพื่อจัดซื้อยุทโธปกรณ์อีก หากจะจัดซื้อต้องซื้ออย่างจำเป็น และเพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะปีนี้ที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินก้อนใหญ่ เราจึงหวังว่า จะไม่เห็นรัฐบาลนำเงินที่กู้มาไปใช้เพื่อซื้ออาวุธต่างๆ เราอยากเห็นเงินกู้ถูกนำมาใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข และเยียวยาประชาชนจากความเดือดร้อนที่กำลังเผชิญอยู่มากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง