Editor's Pick: ‘นักวิจัยลงพื้นที่ในกัมพูชา’ ศึกษาสัตว์พาหะไวรัสร้าย หวังไขความลับ 10 ปี
TNN World
21 กันยายน 2564 ( 13:21 )
76
Editor's Pick: ‘นักวิจัยลงพื้นที่ในกัมพูชา’ ศึกษาสัตว์พาหะไวรัสร้าย หวังไขความลับ 10 ปี ต้นกำเนิดโควิด-19
นักวิจัยกำลังรวบรวมตัวอย่างไวรัสจากค้างคาวในกัมพูชาตอนเหนือ เพื่อทำความเข้าใจการระบาดของโคโรนาไวรัส และมุ่งเน้นศึกษาในสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น ค้างคาว
ไวรัสเมื่อ 10 ปีก่อนคือญาติสนิทโควิด-19
ในปี 2010 มีการเก็บตัวอย่างไวรัสจากค้างคาวเกือกม้าเล็ก 2 ตัวอย่าง ที่จังหวัดสตึงเตรง ของกัมพูชา และแช่แข็งเก็บไว้ที่สถาบัน Pasteur du Cambodge หรือ IPC ในกรุงพนมเปญ
ผลการทดสอบเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่าตัวอย่างไวรัสเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นญาติสนิทกับไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4.6 ล้านคนทั่วโลก
ค้างคาวคือกุญแจสำคัญไขความลับโควิด
ทีมวิจัยจาก IPC จำนวน 8 คน ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างจากค้างคาวและคัดเลือกสายพันธุ์ เพศ อายุ และรายละเอียดอื่น ๆ และใช้วิธีทดสอบโมเลกุลหาความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสโคโรนาในค้างคาว เช่นไวรัสสายพันธุ์ Beta กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
ดร. เวสนา ดวง หัวหน้าแผนกไวรัสวิทยาที่ IPC กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พวกเขาลงพื้นที่ไปแล้ว 4 ครั้ง โดยหวังว่าจะได้เบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะ
“เหตุที่เราเลือกทำการศึกษาที่นี่เพราะจากการค้นคว้าก่อนนี้ พบว่าที่นี่มีค้างคาวอาศัยอยู่ชุกชุม และหลากสายพันธุ์ โดยเฉพาะค้างคาวเกือกม้าเล็ก"
"แม้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ Beta ที่เจอ เป็นคนละพันธุ์กับเชื้อโควิด-19 แต่เราหวังว่าผลจากการศึกษาจะทำให้มนุษย์เข้าใจโควิด-19 ได้มากขึ้น” ทาฟรี โฮม ผู้ประสานงานภาคสนามของทีมกล่าว
ค้าสัตว์ป่า ตัวการแพร่เชื้อสัตว์สู่มนุษย์
โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฝรั่งเศสนี้ ยังมุ่งเน้นศึกษาว่า การค้าสัตว์ป่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคระบาดอีกด้วย
"พวกเราค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับวงจรการค้าสัตว์ป่าในกัมพูชา จดบันทึกความหลากหลายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ Beta ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายค้าสัตว์ป่าเหล่านี้ ทั้งยังมีการพัฒนาระบบตรวจจับการระบาดของไวรัสในระยะเริ่มต้น" จูเลีย กิลโบด์ วิศวกรนักวิจัยของหน่วยไวรัสวิทยาของ IPC กล่าว
สัตว์พาหะของเชื้อโรคเหล่านี้ เช่น ค้างคาว มักไม่แสดงอาการของโรค แต่เมื่อแพร่ไปยังมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ แล้วอาจเกิดอันตรายรุนแรง และแพร่เชื้อโรคไปสู่สิ่งมีชีวิตใกล้เคียงกันได้
อย่างไรก็ตาม ดร. เวสนา หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า มนุษย์มีส่วนรับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดจาก COVID-19 เนื่องจากการรบกวนและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า พร้อมเสริมว่า หากมนุษย์พยายามเข้าใกล้สัตว์ป่า มีโอกาสที่ไวรัสจะแพร่ระบาดมากกว่าปกติ รวมถึงโอกาสกลายพันธุ์สู่มนุษย์ก็มากขึ้นตามไปด้วย
ไวรัสจากค้างคาว ปรากฎตัวให้มนุษย์ได้รู้จักแล้วหลายครั้ง
ไวรัสร้ายแรงที่มาจากค้างคาว สร้างปรากฎการณ์ให้มนุษย์ได้รู้จักแล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น การระบาดของไวรัสอีโบลา รวมถึงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น SARS และ MERS
ทีมงานยังได้รวบรวมการตรวจเชื้อในช่องปากและทวารหนักของสัตว์ และตัวอย่างเลือดจากหนู โดยมุ่งเป้าไปยังความเชื่อมโยงกับไวรัสโคโรนาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ZooCoV ที่พวกเขากำลังทำอยู่