รีเซต

กัมพูชาเคลียร์พื้นที่ปนเปื้อน 'ทุ่นระเบิด-วัตถุระเบิดตกค้าง' 2,579 ตร.กม. ใน 30 ปี

กัมพูชาเคลียร์พื้นที่ปนเปื้อน 'ทุ่นระเบิด-วัตถุระเบิดตกค้าง' 2,579 ตร.กม. ใน 30 ปี
Xinhua
17 มิถุนายน 2566 ( 12:47 )
94

พนมเปญ, 17 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) หลี ทุจ รองประธานคนแรกของสำนักปฏิบัติการทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้เสียหายแห่งกัมพูชา (CMAA) เผยว่ากัมพูชาได้กวาดล้างพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม (ERW) ราว 2,579 ตารางกิโลเมตรในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ทุจกล่าวว่าเป็นเวลา 30 ปีแล้วที่ประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติทำงานร่วมกับกัมพูชา เพื่อกวาดล้างพื้นที่ดังกล่าว ประมาณ 2,579 ตารางกิโลเมตร ระหว่างปี 1992-2022 ซึ่งที่ดินเหล่านี้ถูกส่งคืนให้ชุมชนเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิต เช่น การเกษตร การตั้งถิ่นฐานใหม่ ตลอดจนการก่อสร้างถนน โรงเรียน และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอื่นๆ

อย่างไรก็ดี กัมพูชายังมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดที่เหลืออีก 563 ตารางกิโลเมตร และที่ปนเปื้อนระเบิดลูกปรายและวัตถุระเบิดตกค้าง 1,322 ตารางกิโลเมตร ซึ่งวัตถุดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวและอาจส่งผลให้มีเหยื่อรายต่อไป ขัดขวางการก่อสร้างใหม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และกีดกันผู้คนเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น น้ำสะอาด การศึกษา และการดูแลสุขภาพ

ทุจระบุเพิ่มเติมว่าเราต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า และเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายปลอดทุ่นระเบิดภายในปี 2025 ซึ่งสิ่งนี้ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง ความสอดคล้องของนโยบาย และความมุ่งมั่นอย่างยั่งยืนจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวว่าชาวกัมพูชาราว 1 ล้านคนยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวและทำงานในพื้นที่ปนเปื้อนวัตถุอันตรายข้างต้น

กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากทุ่นระเบิด วัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม และระเบิดลูกปราย โดยช่วงสงครามและความขัดแย้งภายในยาวนาน 3 ทศวรรษ มีทุ่นระเบิดและอาวุธอื่นๆ ถูกทิ้งไว้ในกัมพูชาราว 4-6 ล้านชิ้น

อนึ่ง ข้อมูลของมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดราว 230,516 ลูก ในพื้นที่ 113,716 จุดทั่วกัมพูชา ระหว่างปี 1965-1973

รายงานล่าสุดจากสำนักฯ ระบุว่าทุ่นระเบิด วัตถุระเบิดตกค้าง และระเบิดลูกปรายในกัมพูชา คร่าชีวิตผู้คน 19,819 ราย และส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะอีก 45,198 ราย ระหว่างปี 1979 จนถึงเดือนเมษายน 2023

ข่าวที่เกี่ยวข้อง