รีเซต

1 ปี รัฐประหารเมียนมา: เหตุสู้รบนองเลือดทหาร-พลเรือน เริ่มลุกลามเป็น "สงครามกลางเมือง"

1 ปี รัฐประหารเมียนมา: เหตุสู้รบนองเลือดทหาร-พลเรือน เริ่มลุกลามเป็น "สงครามกลางเมือง"
ข่าวสด
1 กุมภาพันธ์ 2565 ( 19:27 )
63
1 ปี รัฐประหารเมียนมา: เหตุสู้รบนองเลือดทหาร-พลเรือน เริ่มลุกลามเป็น "สงครามกลางเมือง"

เหตุสู้รบนองเลือดระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังจัดตั้งของกลุ่มพลเรือนติดอาวุธ กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะ บรรดาผู้ที่เข้าร่วมสู้รบต่อต้านทหารเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ต้องทิ้งวิถีชีวิตตามปกติของพวกเขาไป ตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว

 

ข้อมูลเกี่ยวกับความหนักหน่วงของการสู้รบ ขอบเขตการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการร่วมมือกันของฝ่ายต่อต้านเพื่อเข้าโจมตีทหาร ชี้ว่าความขัดแย้งนี้เริ่มดำเนินไปในทิศทางใหม่ โดยเปลี่ยนจากการลุกฮือของประชาชนมาเป็นสงครามกลางเมืองอย่างใกล้จะเต็มรูปแบบแล้ว

 

ข้อมูลจากกลุ่มสังเกตการณ์การสู้รบ ACLED ชี้ว่าขณะนี้การปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ รายงานจากภาคสนามยังระบุว่า ฝ่ายพลเรือนมีการประสานงานร่วมมือกันมากขึ้น โดยการจัดตั้งภาคประชาชนนี้แผ่ขยายเข้าไปถึงศูนย์กลางเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีประวัติจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับทหารมาก่อน

 

แม้เป็นการยากที่จะบอกถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอนได้ แต่รายงานของ ACLED ซึ่งรวบรวมจากข่าวของสื่อท้องถิ่นและรายงานอื่น ๆ คาดว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตในเหตุรุนแรงทางการเมืองไปแล้วราว 12,000 ราย นับแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2021 จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่แล้วเป็นต้นมา

 

ช่วงหลังจากเกิดเหตุรัฐประหารไม่นาน พลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการที่ทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ตอนนี้รายงานของ ACLED กลับชี้ว่า ตัวเลขของพลเรือนผู้เสียชีวิตที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น มาจากการสู้รบที่ประชาชนจับอาวุธขึ้นต่อต้านทหาร

นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าเธอเห็นด้วยที่จะเรียกความขัดแย้งในเมียนมาขณะนี้ว่า "สงครามกลางเมือง" ทั้งยังเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมือดำเนินมาตรการที่รุนแรงเด็ดขาดกว่าเดิม เพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมานำประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย

นางบาเชเลต์กล่าวย้ำว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ "เข้าขั้นหายนะ" แต่ประชาคมนานาชาติก็ยังตอบสนองต่อวิกฤตอย่างอืดอาดเฉื่อยชา ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติยังเตือนว่า ความขัดแย้งในเมียนมากำลังลุกลาม จนเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาคแล้ว

 

 

ปัจจุบันกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมานั้นถูกเรียกว่า "กองกำลังปกป้องประชาชน" (People's Defence Force ) หรือพีดีเอฟ เครือข่ายของพลเรือนนี้รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อย

 

เฮรา (นามสมมติ) อายุ 18 ปี เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลายตอนที่เธอเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลังกองทัพก่อเหตุยึดอำนาจได้ไม่นาน เธอต้องระงับแผนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน เพื่อมาเป็นผู้บังคับการกองกำลังพลเรือนที่เมืองแห่งหนึ่งในแถบภาคกลางของเมียนมา

 

เฮราบอกว่าเธอตัดสินใจเข้าร่วมกับกองกำลังพีดีเอฟ หลังได้ทราบเรื่องราวของเมียะ ตแวะ ตแวะ ข่าย นักศึกษาหญิงที่ถูกทหารยิงศีรษะจนเสียชีวิตในการชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อน พ่อแม่ของเฮราเป็นห่วงลูกสาวมากเมื่อเธอเริ่มเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอาวุธของพีดีเอฟ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับ เมื่อเห็นว่าลูกสาวจริงจังกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง

 

"พ่อแม่บอกฉันว่า ถ้าอยากจะทำจริง ๆ ก็ทำให้ถึงที่สุด อย่าล้มเลิกกลางคัน ฉันเลยไปคุยกับครูฝึกและได้เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติอย่างเต็มตัว 5 วันหลังผ่านการฝึก" เฮรากล่าว

 

ก่อนจะเกิดเหตุรัฐประหาร คนหนุ่มสาวในรุ่นของเฮราเติบโตขึ้นมา โดยได้สัมผัสถึงอิสรภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอยู่บ้าง พวกเขาจึงเกลียดชังการยึดอำนาจของทหารอย่างยิ่ง พวกเขายังได้รับการสนับสนุนและฝึกฝนให้ติดอาวุธจากกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน ซึ่งกองกำลังเหล่านี้สู้รบกับทหารเมียนมาเป็นระยะ ๆ มาอย่างยาวนาน ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

วิธีรวบรวมข้อมูลว่าด้วย "สงครามกลางเมือง" ของเมียนมา

บีบีซีใช้ข้อมูลสถิติของ ACLED องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงและความรุนแรงทางการเมืองจากทั่วโลก โดยนำข้อมูลมาจากรายงานของสื่อมวลชน สิ่งตีพิมพ์ขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อมูลล่าสุดด้านความมั่นคงจากองค์กรท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศ

 

แม้ ACLED จะไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของรายงานข่าวแต่ละชิ้นที่รวบรวมมาได้ แต่ข้อมูลตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นยังคงปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามข่าวสารเรื่องเหตุการณ์สู้รบเท่าที่ได้รับทราบมา อย่างไรก็ดี การติดตามความเคลื่อนไหวของเหตุปะทะทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นทำได้ยาก รายงานข่าวที่ได้มาก็มักจะเอนเอียงหรือไม่สมบูรณ์ ทำให้ ACLED เลือกบันทึกข้อมูลที่เป็นประมาณการต่ำสุดเท่านั้น

นอกจากใช้อาวุธสู้รบกันแล้ว ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนต่างก็ปะทะกันในสงครามโฆษณาชวนเชื่ออย่างดุเดือด จนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำทั้งหมด ส่วนการรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนที่เป็นกลางนั้นก็ถูกจำกัดอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม บีบีซีแผนกภาษาพม่าได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ซึ่งมาจากเหตุปะทะระหว่างทหารเมียนมาและกองกำลังพีดีเอฟ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2021 โดยพบว่าใกล้เคียงกับสถิติที่ ACLED รวบรวมไว้

 

สมาชิกของกองกำลังพีดีเอฟนั้นได้แก่พลเรือนจากทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แม่บ้าน หมอ หรือวิศวกร พวกเขาผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลทหาร

มีการวางกำลังหน่วยต่าง ๆ ของพีดีเอฟไว้ทั่วประเทศ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บรรดาเยาวชนเชื้อสายพม่า (Bamar) จากเมืองใหญ่ในที่ราบภาคกลางของประเทศคือผู้นำของขบวนการนี้ โดยจับมือกับคนหนุ่มสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเมียนมา และไม่เคยมีครั้งใดที่กองทัพจะเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงของคนหนุ่มสาวเชื้อสายพม่าถึงขนาดนี้

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติบอกกับบีบีซีว่า "พลเรือนหลายคนเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ หรือไม่ก็จัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองขึ้นมา นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ฉันเฝ้าพูดย้ำมานานแล้วว่า หากเราไม่ตัดสินใจทำอะไรที่เด็ดขาดลงไปสักอย่าง สถานการณ์ของเมียนมาก็จะเดินซ้ำรอยซีเรีย"

ที่มาของภาพ, Getty Images

"นาการ์" อดีตนักธุรกิจหญิงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังพีดีเอฟหลายหน่วยในภูมิภาคสะกายบอกกับบีบีซีว่า การต่อสู้ระหว่างพลเรือนและกองทัพนั้นเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน กองกำลังพีดีเอฟเริ่มต้นสู้ด้วยการมีแค่เพียงหนังสติ๊ก แม้ในตอนนี้พวกเขาจะประดิษฐ์ปืนคาบศิลาและทำระเบิดใช้เองได้แล้วก็ตาม แต่กองทัพเมียนมานั้นสามารถยิงโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทหารเมียนมายังเสาะหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยได้ จากประเทศที่แสดงการสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยเช่นจีนและรัสเซีย

รายงานการสืบสวนที่องค์กร Myanmar Witness เปิดเผยต่อบีบีซี ยืนยันว่ามียานยนต์หุ้มเกราะของรัสเซียถูกลำเลียงมาส่งที่นครย่างกุ้ง เมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้ว

ถึงกระนั้นก็ตาม ความแข็งแกร่งของกองกำลังพีดีเอฟอยู่ที่การสนับสนุนภาคพื้นดินจากชุมชนท้องถิ่น การลุกฮือต่อต้านของผู้คนระดับรากหญ้าในตอนแรก ได้เริ่มกลายเป็นองค์กรจัดตั้งที่มีระบบระเบียบ มีความกล้าหาญและมุ่งต่อการสู้รบมากขึ้น โดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) องค์กรของผู้ลี้ภัยในต่างแดน ได้ช่วยจัดตั้งและวางแนวทางให้กับหน่วยสู้รบจำนวนหนึ่ง รวมทั้งติดต่อกับกลุ่มติดอาวุธพลเรือนอื่น ๆ อย่างไม่เป็นทางการด้วย

กองกำลังพีดีเอฟมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เข้ายึดได้ง่ายของรัฐบาลทหาร เช่นสถานีตำรวจหรือจุดตรวจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ไม่เพียงพอ พวกเขาเข้ายึดอาวุธและวางระเบิดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกองทัพ เช่นธนาคารและหอส่งสัญญาณโทรคมนาคม

นาการ์บอกว่ากองกำลังพีดีเอฟไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องสร้างอนาคตให้กับประเทศด้วยมือของตนเอง "ฉันว่าการเจรจาโต๊ะกลมเพื่อแก้ปัญหา มันไม่ได้ผลแล้วในทุกวันนี้ โลกกำลังทอดทิ้งไม่สนใจประเทศของเรา ดั้งนั้นฉันจึงต้องติดอาวุธให้ตัวเอง"

ที่มาของภาพ, Getty Images

เฮราซึ่งเข้าร่วมกองกำลังพีดีเอฟกับพี่สาวบอกว่า จุดมุ่งหมายของพวกเธอคือ "ถอนรากถอนโคนเผด็จการทหาร"

"พวกทหารฆ่าคนบริสุทธิ์ ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และทุกสิ่งที่เป็นของพวกเขา ทหารก่อการร้ายกับประชาชน ซึ่งฉันยอมรับไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลใดก็ตาม"

มีเหตุสังหารหมู่พลเรือนเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง รวมถึงเหตุสังหารชายฉกรรจ์ 40 คน เมื่อเดือนก.ค.ของปีที่แล้ว และเหตุสังหารทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก รวม 35 คน เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา

บีบีซีได้พูดคุยกับชายผู้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งรอดชีวิตจากการสังหารหมู่อีกครั้งหนึ่งในเดือนธ.ค.ของปีที่แล้วมาได้เพราะแกล้งตาย โดยเขาบอกว่ามีชาย 6 คนที่ไม่ได้หนีไป ตอนทหารมาถึงหมู่บ้านของเขาที่เมืองนากาตะวินในภาคกลางของประเทศ คนเหล่านั้นถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด แม้ว่า 3 คนในจำนวนนั้นจะเป็นคนชรา และอีก 2 คนจะสติฟั่นเฟือนอยู่ก็ตาม ชายที่รอดชีวิตมาได้ยังบอกว่า ทหารโจมตีหมู่บ้านเพื่อค้นหานักรบของฝ่ายต่อต้าน

หญิงม่ายผู้สูญเสียสามีคนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า ศพของสามีเธอมีร่องรอยการถูกซ้อมทรมาน "พวกมันฆ่าคนแก่ที่แม้แต่จะพูดอธิบายก็ยังพูดได้ไม่ชัด ฉันจะไม่มีวันลืมเลย ฉันร้องไห้ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้"

ตามปกติแล้วกองทัพเมียนมาไม่ค่อยจะให้สัมภาษณ์กับสื่อในเรื่องดังกล่าว แต่พลตรี ซอ มิน ตุน โฆษกของรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน บอกกับบีบีซีในการสัมภาษณ์พิเศษเมื่อช่วงปลายปี 2021 ว่ากองกำลังพีดีเอฟนั้นเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ทำให้กองทัพมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการเข้าปราบปรามพลเรือนเหล่านี้

"ถ้าพวกเขาโจมตีเรา เราก็จะสั่งให้ทหารตอบโต้ทันที เรากำลังพยายามรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศและภูมิภาคนี้ โดยใช้กำลังในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงปลอดภัยในระดับที่พอเหมาะพอควร" โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมากล่าว

ที่มาของภาพ, Getty Images

เป็นเรื่องยากที่จะประมาณการตัวเลขกำลังพลของทั้งสองฝ่ายได้อย่างแน่นอน สถิติที่เป็นทางการของกองทัพเมียนมาบอกว่ามีกำลังทหารอยู่ราว 370,000 นาย แต่ในความเป็นจริงน่าจะน้อยกว่านั้นมาก เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการคัดเลือกหรือเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นเลย ทั้งยังมีกำลังพลจำนวนมากที่ตัดสินใจแปรพักตร์มาอยู่ข้างกองกำลังปกป้องประชาชนอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจทราบจำนวนที่แน่นอนของนักรบฝ่ายพลเรือนได้เช่นกัน

นอกจากหน่วยรบที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติก่อตั้งขึ้นแล้ว กองกำลังพีดีเอฟบางส่วนยังได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธ รวมทั้งได้อาศัยพักพิงกับกองกำลังชาติพันธุ์ตามแนวชายแดน แม้ก่อนหน้านี้กองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่มได้เคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ในปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวถูกฉีกทิ้งไปแล้ว

กองกำลังพีดีเอฟได้ออกถ้อยแถลงขออภัยต่อกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ เนื่องจากในอดีตพวกเขาหลงเชื่อคำลวงของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งให้ร้ายว่ากองกำลังชาติพันธุ์ต้องการบ่อนทำลายประเทศ ขณะนี้ฝ่ายพีดีเอฟยึดถือนโยบายเดียวกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า จะมุ่งสร้างสหพันธรัฐที่ทุกชาติพันธุ์มีสิทธิเท่าเทียมกันในอนาคต

แม่ชีแอนน์ โรส นู ทาว นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกที่เคยคุกเข่าร้องขอชีวิตประชาชนต่อหน้าแถวของตำรวจปราบจลาจล เมื่อเดือนมี.ค.ของปีที่แล้ว บอกกับบีบีซีว่า เหตุวุ่นวายปั่นป่วนทางการเมืองนับแต่ทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองนั้น ส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร

ที่มาของภาพ, Myitkyinar News Journal via Reuters

"เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ระบบการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ล้วนแต่ถดถอยไปทั้งสิ้น ผู้หญิงบางคนต้องทำแท้งเพราะไม่อาจเลี้ยงลูกได้ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ พ่อแม่สั่งสอนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกไม่ได้ เพราะความยากลำบากในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง"

อย่างไรก็ตาม แม่ชีแสดงความชื่นชมคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลังปกป้องประชาชน "พวกเขาช่างกล้าหาญ ไม่คำนึงถึงชีวิตของตนเองเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ สันติภาพ และการปลดปล่อยประเทศนี้ให้เป็นอิสระ ฉันขอสรรเสริญพวกเขา ทั้งยังรู้สึกภูมิใจและเคารพนับถือในตัวของพวกเขาอย่างมากด้วย"

รายงานเพิ่มเติมโดย รีเบกกา เฮนช์กี และ เบกกี เดล ออกแบบโดย จานา เทาชินสกี

  • โส่ว วิน, โก โก อ่อง และนาสซอส สไตลิอานู
  • บีบีซีแผนกภาษาพม่า และบีบีซีแผนกวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง