รายงานหน้า2 : ราชกิจจาฯประกาศ ควบคุมเมนู‘กัญชา-กัญชง’
หมายเหตุ – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2565 เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 และประกาศกรมอนามัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 มีรายละเอียดน่าสนใจ ดังนี้
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการการควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จที่เกี่ยวกับการนำกัญชา หรือกัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารเพื่อการจำหน่ายให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อคุ้มครอง
ผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 (2) แห่งกฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการการควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2565
“ข้อ 6/1 อาหารประเภทปรุงสำเร็จ ตามข้อ 5 และข้อ 6 ที่มีการนำกัญชา หรือกัญชงมาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ให้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
(1) แสดงข้อความหรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหาร ที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชงเป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ
(2) แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ทั้งหมด
(3) แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการบริโภคอาหารที่มีกัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบโดยแสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
(ก) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน
(ข) ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว
(ค) ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน
(ง) รับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
(จ) ข้อความอื่นที่กฎหมาย หรือทางราชการกาหนด”
ประกาศ ณ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2565
สาธิต ปิตุเตชะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
*****************
ประกาศกรมอนามัย
เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำประกอบหรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2565
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อวิชาหนึ่งในหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบกิจการและหลักสูตรการอบรม ผู้สัมผัสอาหารแห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร มีความรู้ความเข้าใจ ในการนำกัญชา หรือกัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารเพื่อการจำหน่าย ให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 15 (7) และข้อ 16 (5) แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 กรมอนามัยจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมอนามัย เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้กัญชาหรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัยในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2565”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 กำหนดให้การใช้กัญชา หรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบกิจการ และหลักสูตรการอบรมผู้สัมผัสอาหารตามเอกสารแนบท้ายแห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561
(1) หลักสูตรการอบรมผู้ประกอบกิจการ
1. รายละเอียดหลักสูตร
หัวข้อวิชา 1.การใช้กัญชาหรือกัญชงในการทำประกอบหรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย (เวลา 30 นาที)
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เรื่องการใช้กัญชาหรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัยและสามารถควบคุมกำกับดูแลการใช้กัญชา หรือกัญชง ในสถานที่จำหน่ายอาหารได้
ประเด็นสำคัญ/เนื้อหา 1.1 คุณค่าทางโภชนาการของกัญชา หรือกัญชงและโทษในกรณีที่บริโภคไม่เหมาะสม 1.2 การนำกัญชา หรือกัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค 1.3 ข้อปฏิบัติ ในการนำกัญชา หรือกัญชงมาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร 1.4 บทบาท หน้าที่ของผู้ประกอบกิการในการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้กัญชาหรือกัญชงในสถานที่จำหน่ายอาหาร
(2) หลักสูตรการอบรมผู้สัมผัสอาหาร
1. รายละเอียดหลักสูตร
หัวข้อวิชา 1. การใช้กัญชาหรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย (เวลา 30 นาที)
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เรื่องการใช้กัญชาหรือกัญชง ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย
ประเด็นสำคัญ/เนื้อหา 1.1 คุณค่าทางโภชนาการของกัญชา หรือกัญชง และโทษในกรณีที่บริโภคไม่เหมาะสม 1.2 การนำกัญชา หรือกัญชง มาใช้เป็นส่วนประกอบในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค 1.3 ข้อปฏิบัติ ในการนำกัญชา หรือกัญชงมาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร หรือกัญชง ในสถานที่จำหน่ายอาหาร
ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2565
สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
อธิบดีกรมอนามัย