รวม วิธีเจรจาประนอมหนี้ เจรจาอย่างไร? ให้ Win Win รู้จักสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้
หากท่านเป็นหนึ่งในหลายๆคนที่มีปัญหาน่าปวดหัวทางการเงิน จากผลกระทบที่ตามมาหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายได้เข้ามายิ่งน่าเป็นห่วง เพิ่งโดนมรสุมพิษโควิดเมื่อตอนต้นปียังไม่ฟื้นเลย ต้องมาโดนมรสุมอีกรอบ จนเป็นหนี้ก้อนโต วันนี้ truID ได้รวบรวม วิธีเจรจาประนอมหนี้ สำหรับผู้ที่คิดจะเคลียร์ปัญหาการเงิน และศึกษาไว้สำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
รูปแบบการประนอมหนี้
ไม่ต้องรอให้ถูกฟ้องแล้วไปเคลียร์ที่ศาล ทำได้เลยหากรู้ตัวว่าไม่มีกำลังชำระแล้ว มีหลายวิธีสำหรับลูกหนี้ที่สภาพคล่องเริ่มแย่ รีบไปคุยกับเจ้าหนี้เลย ก่อนจะเข้าสู่ภาวะผิดชำระ ซึ่งจะมีความยุ่งยากกว่า และมีเบี้ยปรับต่าง ๆ เหมือนทำผิดแล้วมอบตัวหรือสารภาพก่อน โทษหนักย่อมกลายเป็นเบา โดยทั่วมีดังนี้
- เจรจาขอลดยอดหนี้ โดย "ขอปิดยอดหนี้ครั้งเดียว"
สำหรับจ่ายทั้งหมดแบบปิดบัญชีด้วยเงินก้อน เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีเงินก้อนแต่ไม่พอปิดหนี้ทั้งหมด
- ขอชำระหนี้บางส่วน ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน
โดยวิธีนี้จะสามารถขอผ่อนได้ประมาณ 2 ถึง 4 ปี นับจากวันที่ตกลงกันได้ และวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถขอลดดอกเบี้ยค้างชำระได้บ้าง หรืออาจจะตัดดอกเบี้ยทั้งหมด โดยผ่อนแค่ต้นเงินก็ได้
- เปลี่ยนประเภทหนี้
หนี้ที่อัตราดอกเบี้ยแพงควรถูกเปลี่ยนประเภทเป็นหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยถูกลง เหมาะสำหรับ ผู้ที่จ่ายไหว แต่อยากประหยัดรายจ่ายที่เป็นดอกเบี้ยลง
- ขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนไปก่อน
กรณีที่ไม่มีเงินเก็บเลย โดยขอผ่อนยอดที่น้อยที่สุด และขอระยะเวลาผ่อนให้นานที่สุด ทั้งนี้ อยู่ที่เทคนิคการเจรจา เหตุผล และความจำเป็นในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าหนี้จะอนุมัติอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- พักชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ก่อน
หากเราไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่มีรายจ่ายเท่าเดิม วิธีนี้อาจเป็นทางออกเพื่อยื้อเวลาหาช่องทางทำเงินมาใช้หนี้ ส่วนใหญ่เป็นระยะเวลาสั้นๆ 3-6 เดือน
- ขอชำระหนี้ดอกเบี้ยไปก่อน ส่วนต้นเงินให้พักชำระหนี้ไว้
หากพอมีเงินสำรองอยู่ หรือ พอมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ไม่เพียงพอชำระหนี้ทั้งหมด
สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม
ถ้าค้างจ่ายครบ 3 เดือนก็เข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) หากลูกหนี้กับเจ้าหนี้ยังตกลงกันไม่ได้ หรือลูกหนี้ไม่ยอมติดต่อ ผ่านไประยะหนึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ เพื่อให้กรอบกฎหมายดูแลให้ลูกหนี้คืนเงินที่ได้กู้ยืมไป และถ้าคดีสิ้นสุดมีคำพิพากษา และยังไม่มีการชำระหนี้กัน ก็จะนำไปสู่การสืบทรัพย์ และเข้าสู่การบังคับคดี ได้แก่ การอายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด ทำให้เส้นทางชีวิตของลูกหนี้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลและกรมบังคับคดี ทั้งนี้ จากประสบการณ์ช่วยเหลือลูกหนี้ เราพบว่า ลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่มีความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของตัวเองในกระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่ความกลัว เครียด และตีปัญหาให้ใหญ่เกินจริง บทความนี้จึงพยายามให้ความรู้ใน 5 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรก จะรู้ได้อย่างไรว่าถูกฟ้อง?
เมื่อถูกฟ้องจะมี “หมายศาล” ส่งไปตามที่อยู่ใน “ทะเบียนบ้าน” ลูกหนี้มีหน้าที่ตรวจสอบจดหมายที่ส่งไปยังที่อยู่นี้ เพราะในทางกฎหมาย หากหมายศาลถูกส่งถึงบ้านจะถือว่า ลูกหนี้ได้รับแล้ว จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับไม่ได้ แม้ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยจะอ้างว่า ไม่ได้รับเพราะอาศัยอยู่ที่อื่นก็ตาม แต่ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่บ้านตามทะเบียนบ้านจริงด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลูกหนี้มีสิทธิตรวจสอบว่า ตนเองถูกฟ้องหรือยัง? จากศาลในเขตอำนาจตามทะเบียนบ้าน เพื่อดูว่ามีคดีแพ่งที่ฟ้องเราหรือไม่
เรื่องที่สอง ทำอย่างไร เมื่อถูกฟ้อง?
ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยรู้สึกตกใจเมื่อได้รับ “หมายศาล” ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการสื่อสารระหว่างศาลซึ่งเป็นคนกลางระหว่างเจ้าหนี้ (โจทก์) และลูกหนี้ (จำเลย) หลังจากที่ศาลได้รับคำฟ้องจากเจ้าหนี้เท่านั้น โดยศาลมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย แม้ว่าลูกหนี้จะรู้สึกผิดกับการที่ตัวเองไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ความเป็นธรรมที่ศาลจะมอบให้จะพิจารณาครอบคลุมถึงความจำเป็นแวดล้อมของลูกหนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่นับเป็นเหตุสุดวิสัยย่อมเป็นประเด็นที่อยู่ในกรอบที่จะให้ความเป็นธรรมด้วย
ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ได้รับหมายศาลมาแล้ว มีหน้าที่อ่านให้เข้าใจว่า ศาลต้องการสื่ออะไร และสำหรับหมายศาลแรกที่ลูกหนี้ได้รับในฐานะจำเลยจะเป็นการเรียกให้ไปยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในเวลาที่กำหนดนับจากวันที่รับหมาย อาทิ 15 วัน หมายความว่า ศาลไม่คิดจะฟังความข้างเดียว ต้องการเชิญให้ลูกหนี้เข้าไปให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในศาลด้วย จึงไม่มีเหตุต้องตกใจ หรือคิดฟุ้งซ่านใด ๆ ที่สำคัญ คดีแพ่งไม่มีการติดคุก
ในการอ่านหมายศาล ขอให้ตรวจสอบ (1) หมายเลขคดี (2) ศาลไหนเพราะประเทศไทยมีศาลทั่วประเทศ (3) ประเด็นที่เจ้าหนี้ต้องการฟ้อง (4) จำนวนเงินที่ฟ้องตรงกับหนี้สินที่เกิดขึ้นหรือไม่ รายการใดไม่ตรงกับสัญญา และ (5) เจ้าหนี้ฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา ก็จะถือว่าผิดนัดชำระ หากเจ้าหนี้ต้องการจะดำเนินคดีเพื่ออาศัยอำนาจศาลให้ลูกหนี้ติดต่อเพื่อชำระหนี้ ก็ต้องฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนด โดยอายุความของคดีเริ่มนับจากวันผิดนัดชำระหรือวันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต 2 ปี สินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี หนี้จากเงินกู้ยืมแบบผ่อนคืนเป็นงวด 5 ปี
เรื่องที่สาม ทำไมควรไปศาล?
การไปศาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเอง และเป็นการแสดงเจตนาว่า เราขอชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถชำระหนี้ตามข้อเสนอของเจ้าหนี้ได้ ซึ่งศาลจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็น-บริบทแวดล้อม รวมทั้งสถานะการเงินตามหลักฐานที่นำมายืนยันในชั้นศาล และหากลูกหนี้พอมีเงินอยู่บ้างก็สามารถเจรจาต่อรองการชำระหนี้ในชั้นศาลได้ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ได้ลดทอนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยได้ รวมถึงต่อรองค่าธรรมเนียมได้ด้วย
ในทางตรงข้าม หากลูกหนี้ไม่ไปศาล เท่ากับเสียสิทธิในการต่อสู้และหมดโอกาสเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ต่อหน้าคนกลาง (ศาล) ที่พร้อมจะให้ความเป็นธรรม สุดท้ายคือ ศาลจำเป็นต้องพิพากษาฝ่ายเดียว ตามคำฟ้องและเหตุผลของเจ้าหนี้เพียงด้านเดียว โดยที่ลูกหนี้ไม่ได้ชี้แจง ทำให้ต้องชำระหนี้เต็มอย่างไม่มีทางเลือก
นอกจากนี้ ในการเตรียมการ การไปศาลควรไปตามกำหนดนัดในคำฟ้อง และควรไปก่อนเวลานัด 30 นาที เพื่อมีเวลาตรวจสอบและเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย เช่น บัตรประชาชน หากมีผู้ค้ำประกันต้องไปศาลด้วยหรือมอบอำนาจให้อย่างถูกต้อง และต้องมีสำเนาบัตรประชาชนผู้ค้ำฯ ด้วย ในด้านข้อมูล ต้องเตรียมคำอธิบายเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาทิ รายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม ต้องดูแลครอบครัว และควรเตรียมประเด็นต่อสู้ เช่น การคิดดอกเบี้ยเกินจริง ข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง เป็นต้น หรือหากคดีหมดอายุความแล้วลูกหนี้สามารถปฏิเสธการชำระหนี้ได้ ยกเว้นมีหนังสือรับสภาพหนี้หรือการรับสภาพความผิด ที่สำคัญ ทุกครั้งในการลงนามในเอกสารของเจ้าหนี้ ลูกหนี้มีหน้าที่อ่านให้ละเอียดก่อนลงนามเสมอ เพราะหลังจากลงนามแล้วจะอ้างว่า ไม่รู้ไม่ได้
เรื่องที่สี่ การยุติคดีโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและประโยชน์ที่ได้รับ
หลังจากที่ลูกหนี้ถูกฟ้องแล้ว ลูกหนี้ยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ จนได้ข้อยุติในการชำระหนี้คืนแล้ว ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ซึ่งเป็นการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พิพากษาตามยอม ซึ่งจะผูกพันทั้งสองฝ่าย โดยลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย สามารถทำสัญญายอมฯ ได้ด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความให้เสียเงินค่าใช้จ่าย เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ศาลและศาลช่วยตรวจสอบความถูกต้องและเป็นธรรมให้อยู่แล้ว อีกทั้งการทำสัญญายอมฯ ในศาลนั้น จะทำให้ศาลมีคำสั่งคืนเงินค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เจ้าหนี้ด้วยบางส่วน ทำให้ลูกหนี้รับภาระในส่วนนี้น้อยลง และสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดในค่าทนายความของเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้ผิดสัญญา เจ้าหนี้สามารถดำเนินการบังคับคดีกับลูกหนี้ได้ทันที
เรื่องที่ห้า หลังศาลพิพากษาแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิและหน้าที่อะไรบ้าง?
ลูกหนี้มีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ว่าลูกหนี้จะร่วมฟังคำพิพากษาด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยลูกหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภายในเวลา 1 เดือนนับแต่วันพิพากษา หากลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ต้องติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระเงิน พร้อมทั้งขอให้เจ้าหนี้ชะลอการบังคับคดี อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะตกลงหรือปฏิเสธ เช่น ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินก้อน แต่ถ้าลูกหนี้ต้องการขอผ่อนชำระ ขึ้นกับเจ้าหนี้ว่าจะยอมหรือไม่
หากลูกหนี้ชำระคืนหนี้ไม่ได้ เจ้าหนี้จะตามสืบว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรบ้างและอยู่ที่ไหน ทำงานอยู่ที่ไหน หากเจอก็จะขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และศาลจะแจ้งไปยังกรมบังคับคดีให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ และ/หรือ อายัดเงินเดือน
(1) ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เช่น ที่ดิน บ้าน เมื่อทรัพย์ถูกยึดแล้ว ก็จะถูกนำออกขายทอดตลาดได้ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้
(2) อายัดเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสงเคราะห์ โบนัส เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน เงินฝากในบัญชีธนาคาร เงินปันผล ค่าเช่าที่ลูกหนี้ได้รับ แต่จะไม่อายัดทั้งหมด ต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้บ้าง เช่น
- เงินเดือน อายัดไม่เกิน 30% ของอัตราเงินเดือนก่อนหักรายจ่าย และต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท
- เบี้ยเลี้ยงชีพ-ค่าล่วงเวลา-เบี้ยขยัน อายัดไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้รับ
- เงินโบนัส อายัดไม่เกิน 50% ของเงินที่ได้รับ
- เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน อายัดได้แต่ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 300,000 บาท
เมื่อถูกอายัดเงินเดือน บริษัทนายจ้างจะต้องนำส่งเงินเดือนของลูกหนี้เท่ากับจำนวนที่อายัด ให้กับกรมบังคับคดีเพื่อนำส่งให้กับเจ้าหนี้ต่อไป อย่างไรก็ดี ลูกหนี้มีสิทธิขอลดเงินเดือนและค่าจ้างที่อายัด ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่อายัดไว้เดิม โดยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี และชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องขอลด เช่น ต้องเลี้ยงดูบุตร ครอบครัว ต้องผ่อนบ้าน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ โดยต้องระบุว่าขอลดเหลือเท่าไร และให้แนบสลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน เอกสารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงได้รับการพิจารณาตามที่เห็นสมควร
สิ่งที่พึงระวังคือ กรณีที่ลูกหนี้พยายามผ่องถ่ายทรัพย์ไปให้ผู้อื่นหรือซ่อนทรัพย์จะมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตาม ม. 350 ประมวลกฎหมายอาญา)
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะฝากลูกหนี้ทุกคนคือ สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่อยากให้เอาใจใส่ เพื่อเข้าใจหลักคิดในกระบวนการยุติธรรม พร้อมกับดูแลและปกป้องตัวเองได้ถูกต้อง
ขอบคุณข้อมูล : BOT
- ปรับโครงสร้างหนี้ ทางรอดของลูกหนี้
- ขอปรับโครงสร้างหนี้ แบบไหน ที่เหมาะกับเรา
- เป็นหนี้ เขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้อย่างไร ให้ยอมช่วยปรับโครงสร้างหนี้
- ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ไหว...ทำอย่างไร? มาดูวิธี 'ปรับโครงสร้างหนี้' สู้โควิดกัน