ห้ามพลาด ! ดาวหางสีเขียวหายากเข้าใกล้โลกในรอบ 50,000 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา ดาวหางซี/2022 อี3 (C/2022 E3) เคยปรากฏให้คนบนโลกเห็นแล้ว แต่มีแสงสว่างค่อนข้างน้อยเนื่องจากระยะทางที่ไกล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 - 2 กุมภาพันธ์ 2023 ที่จะถึงนี้ ดาวหางซี/2022 อี3 ซึ่งเป็นดาวหางหายากจะเคลื่อนที่ผ่านและเข้าใกล้โลกของเรามากที่สุดเป็นระยะ 27 ล้านไมล์ หรือประมาณ 43 ล้านกิโลเมตร จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนกว่าเดิมจากพื้นโลกในบริเวณซีกโลกเหนือ ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ท้องฟ้าเริ่มมืดเป็นต้นไป และจะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนที่ท้องฟ้าไร้แสงจันทร์ หรือคืนที่ท้องฟ้ามืดสนิท
ดาวหางซี/2022 อี3 (C/2022 E3) จากเมฆออร์ต (Oort cloud)
โดยดาวหางดวงนี้เป็นหนึ่งในวัตถุจากเมฆออร์ต (Oort cloud) ชั้นเมฆในอวกาศที่ล้อมรอบระบบสุริยะอยู่เป็นทรงกลม ซึ่งเป็นดาวหางที่มีไดอะตอมมิกคาร์บอน (คาร์บอนที่มีอะตอมคู่กัน) อยู่บริเวณส่วนหัว โดยเมื่อมันเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น รังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์จะตกกระทบลงบนพื้นผิวของดาวหาง และทำปฏิกิริยากับไดอะตอมมิกคาร์บอนก่อให้เกิดการเรืองแสงสีเขียว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงเห็นดาวหางเป็นสีเขียวนั่นเอง
ครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี !
ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา (NASA) พบว่าดาวหางมีคาบการโคจรครบรอบนานประมาณ 50,000 ปี ซึ่งหมายความว่าการโคจรเข้ามายังระบบสุริยะชั้นในของดาวหางดวงนี้ครั้งล่าสุดอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของยุคหินเก่า ตรงกับช่วงที่มนุษย์ยุคแรกเริ่ม (Homo Neanderthalensis) อยู่อาศัยบนโลกในช่วงยุคน้ำแข็ง โดยนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้เป็นครั้งแรกในปี 2022 ที่ผ่านมา
สำหรับเมฆออร์ตนั้น มันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 50,000 - 100,000 หน่วยดาราศาสตร์ (หน่วยดาราศาสตร์ หรือ AU คือ ระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์) ซึ่งวัตถุส่วนใหญ่ในกลุ่มเมฆออร์ตเป็นเศษเหลือจากการสร้างดาวเคราะห์ มักประกอบไปด้วยน้ำแข็ง, คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, แอมโมเนีย, ฝุ่น และหิน ยกตัวอย่างเช่นดาวหางซี/2022 อี3 เป็นต้น
ข้อมูลจาก WION
ภาพจาก NASA