รีเซต

วันไหว้พระจันทร์ 2566 เปิดที่มา "ขนมไหว้พระจันทร์" แต่ละไส้มีความหมายอย่างไร?

วันไหว้พระจันทร์ 2566 เปิดที่มา "ขนมไหว้พระจันทร์" แต่ละไส้มีความหมายอย่างไร?
TNN ช่อง16
25 สิงหาคม 2566 ( 12:10 )
188

วันไหว้พระจันทร์ 2566 เปิดความหมายของ "ขนมไหว้พระจันทร์" แต่ละไส้หมายถึงอะไร


เทศกาลไหว้พระจันทร์ วันไหว้พระจันทร์ หรือ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล) ซึ่งปีนี้ วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566


ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือเวียดนามจะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ที่มีการจัดเทศกาลนี้อย่างยิ่งใหญ่ และปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม นั่นก็คือ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ในตำบลทุ่งยาว และถือได้ว่าเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่ยังคงยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ขนมไหว้พระจันทร์" (月饼) ที่มีสันฐานกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ต่าง ๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้


ภาพจาก AFP

 


ความเป็นมาของขนมไหว้พระจันทร์

ในยุคปลายราชวงศ์หยวน ที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่โดยชาวมองโกล ชาวฮั่นเมื่อต้องการจะก่อกบฏต่อต้าน ด้วยการแอบสอดสาส์นไว้ในขนมชิ้นนี้แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับทุกบ้าน ในสาส์นมีข้อความว่า คืนนี้ในเวลายาม 3 จงสังหารทหารมองโกลพร้อมกัน อันนำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน


ความหมายของไส้ในขนมไหว้พระจันทร์


-เม็ดบัว หมายถึง จิตใจบริสุทธิ์ อายุยืนยาวและความสงบสุข
-ลูกพลัม หมายถึง ความกล้าหาญและความหวัง เปรียบเหมือนดอกพลัมชูช่อในฤดูหนาว
-เกาลัด หมายถึง สิ่งอันเป็นที่รัก
-ธัญพืช หมายถึง โชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์
-ถั่วแดง หมายถึง ความกล้าหาญ
-ไข่แดง หมายถึง เปรียบเหมือนพระจันทร์ที่สุกสว่าง




ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง